สรรพากรจัดคุย SGATAR #52 ได้ข้อสรุปปมภาษีทั้ง 2 วง – รับ 3 ข้อเสนอจากระดับปฏิบัติงาน

กรมสรรพากรปิดฉากรับบทเป็นเจ้าภาพจัดถก SGATAR #52 ที่ จ.ภูเก็ต แยก 2 วงประชุม “หัวหน้าคณะผู้แทน – เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน” เผย! วงใหญ่ได้ข้อสรุป 3 เรื่อง ส่วนวงเล็กแยกคุย 3 กลุ่ม พร้อมชงข้อเสนอครบทุกกลุ่ม

การประชุม SGATAR ประจำปี ครั้งที่ 52 ซึ่ง กรมสรรพากร เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมพูลแมน ภูเก็ต กะรนบีช รีสอร์ต จังหวัดภูเก็ต ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหัวหน้าคณะผู้แทน ผู้แทน และผู้สังเกตการณ์ รวม 160 คน

โดย การประชุม SGATAR ประจำปีครั้งนี้ แบ่งออกเป็น การประชุมหัวหน้าคณะผู้แทน และ การประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมหัวหน้าคณะผู้แทน ได้มีการประชุมรวม 6 ช่วง โดย ผู้บริหารหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนกันในหัวข้อหลัก 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) การนำ Pillar 2 มาปฏิบัติ (2) วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูลในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี และ (3) การจัดเก็บภาษีทางอ้อม (ภาษีมูลค่าเพิ่ม/ภาษีสินค้าและบริการ) จากเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะที่ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ได้มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย โดยทุกกลุ่มย่อยมีการประชุมรวม 4 ช่วง และได้มีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมหัวหน้าคณะผู้แทน ดังนี้

1. กลุ่ม 1 การกำหนดราคาโอน-การประเมินสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Transfer Pricing- Intangible Asset Assessment) ผู้แทนหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ได้หารือกันเกี่ยวกับ ความท้าทายในการตรวจสอบการกำหนดราคาโอนสำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ประเมินมูลค่าได้ยาก (Hard-to-Value Intangibles หรือ HTVI) และ มีข้อเสนอแนะว่าวิธีการเกี่ยวกับ HTVI ควรยืดหยุ่นและสามารถเพิ่มความชัดเจนแน่นอนในการเสียภาษี นอกจากนั้น หน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีควรระบุธุรกรรม HTVI และดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้ การหารือกันกับผู้เสียภาษีอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้สามารถดำเนินการวิเคราะห์หน้าที่งาน (Functional Analysis) นับเป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศในเกือบทุกกรณีและช่วยผู้เสียภาษีให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องตั้งแต่แรก กลุ่มนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้มีการวิเคราะห์ข้อตกลงเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอย่างระมัดระวัง และหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีควรพิจารณาจัดทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (Advance Pricing Arrangement หรือ APA) เพื่อให้เกิดความชัดเจนแน่นอนและข้อตกลงที่เป็นมิตร

 2. กลุ่ม 2 การทำให้การเดินทางของผู้เสียภาษีเป็นดิจิทัล (Digitalisation of Taxpayer Journey) ผู้แทนหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเกี่ยวกับการทำให้การเดินทางของผู้เสียภาษีเป็นดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนการเสียภาษีเงินได้ และมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อพัฒนาบริการเชิงรุก รวมทั้งมีการสร้างความสามารถและการพัฒนากำลังคนที่พร้อมสำหรับอนาคต

3. กลุ่ม 3 การนำการรายงานข้อมูลรายประเทศมาปฏิบัติและการใช้ข้อสนเทศ (Country-by- Country Reporting (CbCR) Implementation and Use of Information) ผู้แทนหน่วยงานบริหารการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ได้หารือกันเกี่ยวกับความท้าทายในการใช้ข้อสนเทศจากรายงานข้อมูลรายประเทศ และมีข้อเสนอแนะให้มีการสร้างความสามารถสำหรับสมาชิกที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นหรือขั้นกลางของการพัฒนา และให้มีการอภิปรายวิธีการที่ดีที่สุดและมีการแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องสำหรับสมาชิกที่พัฒนาอยู่ในขั้นก้าวหน้าแล้ว

ที่ประชุมหัวหน้าคณะผู้แทนได้รับรองข้อเสนอแนะซึ่งที่ประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเสนอทุกประการ ทั้งนี้ SGATAR จะได้จัดทำแผนการทำงานประจำปี เพื่อดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้นต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password