“อาคม” ร่วมถกเวที “ขุนคลังอาเซียน” หนุน เพิ่มกองทุน AIF ป้องความเสี่ยงภัยทางการเงิน
“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ร่วมเวทีประชุม รมว.คลังอาเซียน ครั้งที่27 และ ผู้ว่าฯธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 9 ที่ เกาะบาหลี ชูธงหนุน เพิ่มกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน หรือ AIF ป้องความเสี่ยงทางการเงิน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 27 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 ในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธานร่วมของการประชุม AFMGM ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียนสำคัญ: ศูนย์กลางของความเติบโต” (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- การประชุม AFMM ครั้งที่ 27 ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ เช่น (1) การปรับทิศทางการดำเนินงาน (Repositioning) ด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการสีเขียวเพิ่มขึ้น รวมถึงประเด็นการพิจารณาเพิ่มทุนของกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) (2) การขยายขอบเขตของคณะกรรมการร่วมด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการประกันภัยด้านภัยพิบัติของอาเซียน (ASEAN Cross-Sectoral Coordination Committee on Disaster Risk Financing and Insurance: ACSCC on DRFI) ให้ครอบคลุมความเสี่ยงจากโรคระบาด (3) การผลักดันการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งออกและการนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนทิศทางการดำเนินงานของ AIF ที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืนต่อไป รวมถึงประเด็นการเพิ่มทุนในกองทุน AIF เพื่อสนับสนุนโครงการอื่น ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการประกันภัยพืชผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเกิดวิกฤติ และเห็นชอบในหลักการต่อการจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข
- การประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ต้องการผลักดันในปี 2566 (ASEAN Chair’s Priorities For 2023: PEDs) ซึ่งประกอบด้วย ประเด็นผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Thrust) ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟูและการสร้างใหม่ (Recovery-Rebuilding) (2) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และ (3) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) และได้มีการหารือเพิ่มเติมในอีก 3 ประเด็น ได้แก่ (1) การส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น และการชำระเงินข้ามพรมแดน (Local Currency Transactions and Cross-border Payment) โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียน (Task Force on Local Currency) เพื่อสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำแนวทางสำหรับกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น (2) ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการเงินการคลังและหน่วยงานด้านสาธารณสุข (Finance and Health Cooperation) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการประเมินความต้องการเงินทุน (Gap Assessment) และ (3) ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Cooperation) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในสาขาต่าง ๆ ภายใต้แผนงานการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) และความร่วมมือด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation) โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการเผยแพร่ ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนการส่งเสริมการทำธุรกรรม ด้วยสกุลเงินท้องถิ่นและการชำระเงินข้ามพรมแดน เพื่อพัฒนากรอบการทำงานด้านการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียน และเห็นควรให้จัดการหารือระดับสูงหลังจากที่ได้รับทราบผลการศึกษาเกี่ยวกับความต้องการเงินทุนสำหรับการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการรับมือกับโรคระบาด เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านสาธารณสุขและด้านการคลังของอาเซียนได้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการหารือและดำเนินงานต่อไป นอกจากนี้ ในประเด็นความมั่นคงทางอาหารของอาเซียนที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียผลักดัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ขัดข้อง เนื่องจากจะเป็นการช่วยสนับสนุนกลไกการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) และโครงการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) เป็นต้น
การประชุมในวันนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังในอาเซียนที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการเงินการคลังกับประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การเพิ่มการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศโดยไม่ใช้เอกสารกระดาษ การส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่นและการชำระเงินข้ามพรมแดน การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุขและด้านการคลังของอาเซียน เป็นต้น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสามารถเป็นศูนย์กลางของความเติบโตที่สำคัญต่อไปได้ในอนาคต สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งที่สองในปีนี้ มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 โดยมีสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ.