“อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา” สะดุด! จุดยืน ปมนายกฯต้องมาจาก ส.ส. แต่ ทำไม ไม่ทำ ?

ใครจะคิดว่า “เกม” หรือ “ความเชื่อ” ที่ถูกปลุกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนจะต้องเลือก ระหว่างฝ่าย “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ”พร้อมกับการสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย”

แต่กลับกลายเป็นว่า ใกล้เลือกตั้ง 2566 เข้ามาทุกที คำว่า “ประชาธิปไตย” ชักเลื่อนลอย เลือนราง ไร้ความหมาย? ใน “จุดยืน” ของพรรคการเมือง อย่าง “เพื่อไทย” แทนที่จะเป็น “จุดแข็ง” จุดขาย อย่างแจ้งชัด เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ เลือกอย่างเต็มภาคภูมิ

สิ่งที่เข้ามาทดแทน คือ ชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” จำนวนที่นั่งส.ส. 310 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือแม้แต่ การจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อเป้าหมายในการเข้าร่วมรัฐบาล ที่เชื่อว่า กุมความได้เปรียบ เสียงส.ว. 250 เสียง ในการโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้เสียงเกินครึ่งของสองสภา หรือ รัฐสภา คือ 376 เสียง

ทั้งหมด ที่พรรคเพื่อไทย “ดิ้นรน” ก็เพื่อที่จะเป็นรัฐบาลให้ได้ ไม่ต่างกับพรรคการเมืองทุกพรรค แต่ต่างตรงที่หลายพรรคไม่เคยประกาศตัวเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” และอ้าง “ประชาธิปไตย” ในการต่อสู้ทางการเมือง อย่างโอ้อวด จะด้วย เพียงต้องการ “ขี่กระแส” ไม่เอาเผด็จการ “เบื่อประยุทธ์” ก็ตาม แต่มันคือ การ “ผูกมัด” เหมือน “คำพูดเป็นนายการกระทำ” ในทางการเมือง พูดแล้วต้องทำ และทำให้ได้ ไม่เช่นนั้น ก็เท่ากับ“โกหกหลอกลวงประชาชน”

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ที่เป็นสัญลักษณ์ “บ่งบอก” ความเป็น “ประชาธิปไตย” พรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองที่อ้างตัวเป็น “ประชาธิปไตย” จะปฏิเสธไม่ได้ ด้วยประการทั้งปวง เพราะนั่นคือ สิ่งที่ประชาชนกำลังจับตามอง และสิ่งที่สะท้อนให้เห็น “สัจวาจา” ว่าพูดจริงทำจริงหรือไม่

นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทย กำลังดูเบา และไม่ให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้

จึงตัดสินใจไม่ส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ควบคู่กับการเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”

ทำให้ประเด็น ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ออกมาเรียกร้องหลักการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ “นายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น”

กลายเป็นเครื่องชี้วัด ตรวจสอบ ความเป็น ประชาธิปไตยของ พรรคเพื่อไทย หรือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร กับ เศรษฐา ทวีสิน ทันที

“ปิยบุตร” โพสต์เฟซบุ๊ก ประเด็น นายกฯต้องเป็น ส.ส. ว่า ระบบรัฐสภา ไม่ได้บังคับเสมอไปว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. บางประเทศบังคับ บางประเทศก็ไม่บังคับ แต่โดยทั่วไปแล้ว เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็มักเลือกคนที่เป็นส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แน่ๆ ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ล้วน แล้วแต่ให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจในเรื่องนี้

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ ในขณะที่ต้องการทำให้เห็นว่า ตัวเองสนับสนุนและส่งเสริมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี ให้มาจาก ส.ส. แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยกลับหลงลืมในสิ่งที่ตัวเองเคลื่อนไหว และแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่มาก่อน โดยละเลย “จุดยืน” ประชาธิปไตยเสียเอง?

จริงอยู่, แม้ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ช่วงนี้มีคนถามเยอะ เรื่องสถานะของผมกับการตัดสินใจไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ จึงขอใช้พื้นที่นี้ในการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน

จุดยืนของผม ผมตั้งใจที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหาร โดยนำนโยบายที่ได้หาเสียงร่วมกับการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ประกอบไปด้วย ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพวกเราทุกคนมีจุดยืนที่จะทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มความสามารถ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในฐานะผู้แทนประชาชนแต่ประการใด

“หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค นั่นคือ สิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่า หากต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยครับ “ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ”

นั่นเท่ากับว่า รังเกียจรัฐประหาร รังเกียจกติกาของคณะรัฐประหาร แต่สุดท้าย ก็เลือกที่จะเห็นดีเห็นงามกับ กติการัฐประหาร ที่โจมตีมาตลอด กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังโจมตีในเวทีหาเสียง มันคืออะไร?

แล้วคนที่ออกมาเฉลยสาเหตุที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร กับ นายเศรษฐา ทวีสิน ทำไมไม่ลงสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยากเย็นแสนเข็ญอะไร ก็คือ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ เจ้ากรรมนายเวร ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

“จตุพร” ชี้ว่า ภายใต้หลักการต่อสู้ให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจาก ส.ส. นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อ “เพื่อไทย” ประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้มข้นเหนือพรรคการเมืองอื่น แต่ทั้ง อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา-ชัยเกษม กลับไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี ส.ส.ของพรรค ซึ่งวิธีคิดของคนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากไม่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่า ด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้ง จึงต้องมาอยู่ในองค์กรที่ไม่ได้อยู่ใน รธน. คือ “ครอบครัวเพื่อไทย” และไม่เข้าเงื่อนไขการยุบพรรค ดังนั้น ปัจจุบัน ส.ส.เพื่อไทย เป็นกรรมการบริหารพรรค 2 คนเท่านั้น คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และ นายประเสริฐ จันทรรวงทองเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญ “จตุพร” กล่าวว่า กรณีแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ทั้ง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และ นายชัยเกษม นิติสิริ ไม่ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เพราะไม่ต้องการเอาตัวเองไปเสี่ยงเข้าไปอยู่ในแดนจริยธรรมทางการเมือง โดยเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ และเมื่อไม่ได้เป็น ส.ส. จริยธรรมย่อมเข้าไปควบคุม ตรวจสอบไม่ถึง

“จตุพร” ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาบทเรียนจาก ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ กนกวรรณ วิลาวัลย์ ส.ส.ภูมิใจไทย ที่ครอบครองที่ดินส.ป.ก.และรุกป่าสงวน ได้กระทำความผิดก่อนเป็น ส.ส. และก่อนมี รธน. 2560 ด้วย แต่นักการเมืองทั้งสองคน ยังถูกเล่นงานด้วยความผิดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

“จตุพร” ชี้ประเด็นว่า ปูมหลังการทำธุรกิจของ อุ๊งอิ๊ง และ เศรษฐา เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากเป็น ส.ส.จะถูกรื้อค้นมาตรวจสอบได้ตามมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองของคนเป็น ส.ส. ทันที ไม่ว่าที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรร ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ หลักธรรมาภิบาล เป็นต้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้กับการไม่มีชื่อในระบบบัญชี ส.ส.ของพรรค นอกจากความจำเป็นไม่ต้องการรีบเสี่ยงไปเผชิญหน้ากับมาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง

ดังนั้น จึงเลือกเอาแต่แคนดิเดตนายกฯ อย่างเดียว จึงสะท้อนถึงพฤติกรรมตัดตอนความเสี่ยงเป็นช่วงๆ ของสถานการณ์การเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมากไปกว่านี้

ประเด็น จึงกลายเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” อยู่เหนืออุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย และ“จุดยืน” ของพรรคเพื่อไทย ที่คุยโตโอ้อวดความเป็น “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ข่มพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมตราหน้าเป็น “พรรคฝ่ายเผด็จการ” อย่างน่ารังเกียจ โดยเฉพาะการปราศรัยตอกย้ำของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ทำเหมือนตัวเองเป็น“ประชาธิปไตย” อย่างไม่มีที่ติ?

กลับกลายเป็นว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ที่ถูกตราหน้า เป็น “ฝ่ายเผด็จการ” ยกเว้น“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีเหตุผลส่วนตัว ไม่ลงสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ นอกนั้นถือว่า ก้าวหน้ามากกว่า พรรคเพื่อไทยในการ “ก้าวข้าม” ไปสู่ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ให้ความสำคัญกับ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากส.ส.

แม้แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ โชว์ให้เห็นตามที่พูดว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเผด็จการ เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย

อย่าลืม พรรคเพื่อไทย ยังเอาตัวไม่รอดจากข้อกล่าวหา พรรคของตระกูลชินวัตร แม้พยายามแก้ข้อกล่าวหาอยู่ก็ตาม ยิ่งดัน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ลูกสาว “ทักษิณ” ขึ้นเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1” ก็ยิ่ง “ตอกย้ำ” ตำแหน่งนี้ได้มาเพราะใครตระกูลไหน

อย่าลืม พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย ยังทำเหมือน “ประชาธิปไตย” เป็นเรื่อง “ฟอกง่าย” ใครก็ตามที่อยู่พรรคเพื่อไทย แล้วย้ายไปอยู่พรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน คนนั้นจะถูกตราหน้าเป็น “เผด็จการ” ผู้ทรยศ แต่ใครก็ตาม ที่ย้ายจากพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเพื่อไทย ตราหน้าว่า เป็นฝ่าย “เผด็จการ” ย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย คนนั้นจะถูกฟอกว่าอยู่ฝ่าย “ประชาธิปไตย” อย่างทันทีทันควัน เหมือนไม่เคยมีอดีตมาก่อน

ประเด็นจึงน่าคิดว่า “พรรคเพื่อไทย” มองประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างไร แค่เปลี่ยนรัฐบาลจากฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน มาเป็นรัฐบาลฝ่ายพรรคเพื่อไทย ก็เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว หรือไม่ หลักการ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” อย่างอื่นนอกเหนือจากชนะเลือกตั้ง ไม่สำคัญ อย่างนั้นหรือ

“จุดยืน” ประชาธิปไตยที่พร่ำมา มีเพียงแค่นี้เอง?

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password