“ออมสิน” ขานรับนโยบาย”บิ๊กตู่” ชะลอฟ้อง อุ้มลูกหนี้ NPL

“ธ.ออมสิน” ผลักดัน ศักราช 65 เป็นปีแห่งการแก้หนี้สิน “ภาคครัวเรือน” เป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐ ประกาศชะลอดำเนินการทางกฎหมายไม่ฟ้องร้องลูกหนี้ NPL ช่วยคลายกังวลเรื่องคดีความ

วันที่ 15 ก.พ. 2565 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน ให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ธนาคารออมสิน ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ลูกหนี้ หรือ ประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องขาดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารจึงได้ออกมาตรการ “ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs” จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้ต้องกังวลเรื่องคดีความ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ มาตรการชะลอ หรือ ผ่อนปรนการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโควิด-19 ครั้งนี้ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ ที่กลายเป็น NPLs ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ประกอบด้วยสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบุคคล-รายย่อย สินเชื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา และ สินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยธนาคารจะชะลอการฟ้องคดีต่อศาลไว้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2565

ทั้งนี้ รวมถึงลูกหนี้ที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล และมีการผ่อนชำระดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มาเริ่มค้างชำระในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563-31 ธ.ค. 2564 ธนาคารจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย โดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณีตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย

มีรายงานแจ้งว่า ในปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็น NPLs ที่ได้รับประโยชน์ หรือ ความช่วยเหลือจากมาตรการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายจำนวนมาก และปัจจุบันลูกหนี้ดังกล่าวมีสถานะปกติแล้ว ดังนั้นธนาคารออมสินจึงขอแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โดยให้ติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนก.ย.2564 เคยประกาศจะชะลอการดำเนินการทางกฎหมายต่อลูกหนี้ NPLs มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารออมสิน แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้วก็ตาม แต่ยังมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องขาดรายได้ต่อเนื่อง เป็นเวลานานจากการปิดกิจการ ถูกเลิกจ้าง หรือ มีรายได้ลดลงจึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งธนาคารตระหนักถึงสภาพปัญหาที่ลูกหนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความยากลำบากที่เกิดขึ้น ธนาคารจึงตั้งใจช่วยเหลือไม่ให้ต้องกังวลเรื่องคดีความ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password