ดัชนีความเชื่อมั่นฯ SME เดือน ธ.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 โดยมีปัจจัยมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวใกล้เคียงกับ สถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนธันวาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 55.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยมีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิตและภาคการค้า ผลจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่และมีการจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ขยายตัวชัดเจนจนเกือบเป็นปกติ ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญทุกภูมิภาค เช่น ภาคใต้และภาคเหนือ และการจับจ่ายใช้สอยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงสถานการณ์ทางด้านต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากราคาพลังงานกลุ่มเชื้อเพลิงที่ลดลง

ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนี SMESI เดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม กำไร การจ้างงาน ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ และต้นทุน ซึ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 67.3, 63.3, 51.3, 57.6 และ 41.5 จากระดับ 63.4, 57.5, 50.5, 57.1 และ 41.2 ตามลำดับ ขณะที่องค์ประกอบด้านการลงทุน แม้ค่าดัชนีฯ จะชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 53.8 แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับค่าฐานที่ 50

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 57.5 จากระดับ 55.3 ผลจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะร้านอาหารและธุรกิจโรงแรมที่พักที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน รองลงมาคือ ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 54.3 จากระดับ 52.3 ผลจากต้นทุนการผลิตหลายรายการที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อเพลิง ส่งผลดีกับกลุ่มผลิตสินค้าจากพลาสติกที่ต้นทุนวัตถุดิบหลักลดลงชัดเจน และกลุ่มธุรกิจผลิตอื่นที่มีการพึ่งพาการขนส่งสูง เช่น การผลิตอาหารและการผลิตเครื่องประดับอัญมณี ภาคการค้า ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.0 จาก 53.3 ขยายตัวทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในทุกพื้นที่ จากการเดินทางและผู้คนที่สัญจรมากขึ้นช่วงวันหยุดในเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะภาคใต้และภาคเหนือ ที่ได้กำลังซื้อจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่วน ภาคการเกษตร ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 53.4 ผลจากธุรกิจชะลอตัวลง ถึงแม้สินค้าเกษตรเมืองหนาวจะได้อานิสงส์จากปัจจัยสภาพที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยที่ถึงแม้ว่าราคาจะเริ่มปรับลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าสถานการณ์ปกติ

สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนธันวาคม 2565 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคและอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 60.7 จากระดับ 56.7 ผลจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้นเทียบเท่ากับสถานการณ์ปกติในช่วงก่อนการระบาดของ Covid-19 ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวในขณะนี้คือ ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เพื่อรองรับกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัว รองลงมาคือภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 49.1 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นตามการจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากแรงงานในพื้นที่ได้รับเงินโบนัสประจำปี ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และการก่อสร้าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 54.5 จากระดับ 52.7 ผลจากกำลังซื้อในพื้นที่ขยายตัวจากแรงงานที่กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะกับภาคการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากนั้น กลุ่มธุรกิจเสื้อผ้าและสิ่งทอขยายตัวเช่นกัน โดยได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวและสภาพภูมิอากาศ กระตุ้นการผลิตและการขายสินค้ากลุ่มเสื้อกันหนาว ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 52.4 เป็นผลจากการขยายตัวของการค้าปลีกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

โดยภาคการค้าผู้ประกอบการมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลสิ้นปีผู้บริโภคเริ่มปรับตัวกับราคาขายสินค้าที่สูงขึ้น เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 53.7 จากการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทั้งแบบ Walk-in และจองล่วงหน้า ส่งผลดีกับกลุ่มขนส่งส่วนบุคคล รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับของฝากของที่ระลึก เช่น อัญมณี และผลิตภัณฑ์สินค้าแฮนด์เมด (Handmade) และภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 58.0 จากระดับ 57.1 ผลจากกำลังซื้อในพื้นที่ขยายตัวจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลดีกับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และภาคการค้า โดยเฉพาะค้าปลีก รวมถึงธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่มในกลุ่มผลิตอาหารที่เป็นของฝาก

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 55.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 54.6 จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการค้า การจับจ่ายใช้สอยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคบริการ

จากการสอบถามธุรกิจ SME กับสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,888 ราย จาก 25 สาขาธุรกิจทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17-31 ธันวาคม 2565 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 60.5 มีภาระหนี้สินในกิจการ และร้อยละ 39.5 ไม่มีภาระหนี้สินในกิจการ โดยผู้ประกอบการที่มีภาระหนี้สิน ร้อยละ 83.2 กู้ยืมเงินเพื่อใช้หมุนเวียนในกิจการเป็นสำคัญ และร้อยละ 7.9 ใช้เพื่อการลงทุน และร้อยละ 7.4 เพื่อชำระหนี้สินเดิม

ผู้ประกอบการ มีภาระหนี้สินส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,001-100,000 บาท โดยภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของธุรกิจ และสัญญาเงินกู้ส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 3 ปี และไม่เกิน 7 ปี ตามลำดับ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในช่วงร้อยละ 6-12 โดยธุรกิจขนาดกลางได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าขนาดอื่น ๆ ในขณะที่มีธุรกิจรายย่อยบางส่วนต้องรับอัตราดอกเบี้ยที่คอนข้างสูงมาก

ผู้ประกอบการ ร้อยละ 56.5 สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา แต่มีร้อยละ 43.5 ที่กำลังมีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการชำระผิดเงื่อนไขหรือจะไม่สามารถชำระได้ตามสัญญา

โดยปัญหาสำคัญมากที่สุดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME คือ ขั้นตอนการยื่นกู้ยุ่งยาก อัตราดอกเบี้ยสูง และคุณสมบัติ/เงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจรายเล็ก ตามลำดับ ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดในด้านการเงินและภาระหนี้สิน คือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านกำลังซื้อและรายได้ของผู้บริโภค โดยเฉพาะการขยายผลมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ในด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ยังต้องการให้ภาครัฐควบคุมราคาสินค้าบางประเภทที่ยังอยู่ในระดับที่สูงต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password