อานิสงส์เทศกาลปีใหม่ดัน SMESI เดือน ธ.ค.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือน ธันวาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอานิสงส์ของเทศกาลท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ราคาต้นทุนวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง ภาพรวมปี 2566 ความเชื่อมั่นเฉลี่ยสูงขึ้น ภาคใต้และธุรกิจบริการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 54.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเชื่อมั่นฯ ในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.2 เป็นผลจากกำลังซื้อภาคเอกชนในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ที่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ รวมถึงการจ่ายเงินโบนัสประจำปีของภาคธุรกิจในหลายพื้นที่ ส่งผลดีกับธุรกิจภาคการค้า กิจกรรมบริการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงกิจกรรมซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ในขณะที่ภาคการผลิตยังค่อนข้างทรงตัว แม้จะได้รับผลดีจากต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ปริมาณการผลิตเริ่มชะลอตัวหลังจากการเร่งผลิตไว้ในช่วงก่อนเทศกาล และลดกำลังการผลิตตามจำนวนวันหยุดในช่วงสิ้นปี
โดยภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นฯ SMESI ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 53.3 ปรับตัวสูงกว่าปี 2565 ที่ 51.1 แม้ว่าจะมีปรับตัวลดลงในช่วงการเลือกตั้งกลางปี 2566 แต่ก็สามารถปรับตัวกลับมาเพิ่มขึ้นได้ และมีความเชื่อมั่นเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกภูมิภาค ทุกภาคธุรกิจ เมื่อพิจารณารายภูมิภาคพบว่าภาคใต้มีระดับความเชื่อมั่นฯ เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 55.6 จากระดับ 48.7 ในปีก่อน รองลงมาคือภาคตะวันออก มีระดับความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.0 จากระดับ 49.3 ระดับความเชื่อมั่นฯ ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 54.6 จากระดับ 52.2 และระดับความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพและปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 52.8 ระดับ 52.0 และ ระดับ 53.1 จากระดับ 51.9, 51.2 และ 52.8 ตามลำดับ
ในด้านภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นฯฯ SMESI ภาคธรุกิจ พบว่า ภาคการเกษตรมีระดับความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ระดับ 52.7 จากระดับ 49.1 รองลงมาคือภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 54.7 จากระดับ 51.7 ภาคการผลิตอยู่ที่ 52.2 ปรับตัวพิ่มขึ้นจาก 50.9 และภาคการค้ามีระดับความเชื่อมั่นฯอยู่ที่ 52.1 จากระดับ 50.6 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ระดับความเชื่อมั่นฯ ในภาคใต้และภาคธุรกิจการบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้สูง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในปี 2566 ขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
หากพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ SMESI เดือนธันวาคม 2566 รายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ อยู่ที่ 56.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.7 ภาคธุรกิจขยายตัวชัดเจน โดยเฉพาะกิจกรรมที่พึ่งพากำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมที่พักแรม สินค้าของฝากของที่ระลึก เช่น ยา สมุนไพร เสื้อผ้า สิ่งทอ และกิจกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของพื้นที่ นอกจากนี้ธุรกิจการเกษตรยังขยายตัวดีตามฤดูกาล
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคใต้ อยู่ที่ 52.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4 เศรษฐกิจในพื้นที่ยังขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการใช้จ่ายไม่สูงเทียบเท่าก่อนโควิด ส่งผลดีกับบางธุรกิจของ SME เช่น กลุ่มที่พักโรงแรมขนาดเล็ก รวมถึงการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตามธุรกิจการเกษตรสะท้อนความกังวลชัดเจน จากปัจจัยของสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 55.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.5 ภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงการจ่ายเงินโบนัสประจำปีของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามภาคการผลิตมีการปรับลดกำลังการผลิตลง จากจำนวนวันหยุดในช่วงสิ้นปี
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 54.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.1 กำลังซื้อและการลงทุนภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงมีสัญญาณของการลงทุนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์คงทนของบางธุรกิจเช่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และก่อสร้าง อย่างไรก็ตามกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ยังเป็นการเดินทางไป-กลับในวันเดียว ทำให้กลุ่มโรงแรมที่พักไม่ขยายตัว
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 55.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.1 เป็นผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วง High season โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และรัสเซีย ส่งผลดีกับกิจกรรมบริการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น การขนส่งบุคคล ร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มที่พักที่ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์รายวัน ผ่าน Airbnb ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.6 ธุรกิจในพื้นที่ได้รับกำลังซื้อเพิ่มเติมจากแรงงานกลับถิ่นในช่วงวันหยุดเทศกาล ส่งผลดีกับธุรกิจภาคการค้าปลีก ค้าส่ง และกลุ่มค้าจักรยานยนต์ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น เริ่มมีโครงการลงทุนปรับปรุง ขยาย ที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ 55.5 โดยชะลอตัวลงเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะภาคการผลิต และภาคการเกษตรที่มีความกังวลต่อราคาสินค้าต้นทุนวัตถุดิบที่อาจเร่งตัวสูงขึ้นหลังพ้นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพราะความกังวลในเรื่องของภัยแล้งที่ยังอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 นอกจากนี้ผู้ประกอบการเริ่มมีแนวโน้มชะลอการจ้างงานลง และใช้แรงงานในหลายหน้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนด้านนี้ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดีการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต และต้นทุนการกู้ยืม ยังเป็นความช่วยเหลือสำคัญที่ SME ต้องการมากที่สุด เพราะ SME ต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเข้าควบคุมราคาสินค้าทุน และวัตถุดิบ ให้สอดคล้องกับฐานรายได้ นอกจากนี้ยังต้องการเพิ่มความรู้และการเปิดโอกาสทางการตลาดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมธุรกิจ SME ให้เติบโตได้ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับ SME จะทำให้ SME มีศักยภาพทางธุรกิจที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้