“อนุสรณ์” ชี้! รัฐบาล ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ส่งผลบวกเศรษฐกิจไทย ช่วยลดงบฯที่สิ้นเปลือง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีต กก.บห.หนี้สาธารณะ ระบุ การประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย และ ช่วยลดงบประมาณที่สิ้นเปลือง ที่ต้องตอบแทน จนท.รัฐ

วันที่ 25 ก.ย.2565 รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง การยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ว่า ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เนื่องจาก พรก.ฉุกเฉินไม่มีความจำเป็นใดๆมานานแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่าปกติโดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เวลาราชการเพิ่มเป็นทวีคูณ แถมยังได้รับบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้น ในช่วงของการประกาศใช้ยาวนานกว่า 2 ปี 6 เดือน ทำให้ประชาชน 1,467 คนถูกดำเนินคดีจาก พรก ฉุกเฉิน ซึ่งควรจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด

ทั้งนี้จากการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สัญญาณการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น นอกจาก ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวแล้ว การขยายตัวของการบริโภค ก็เพิ่มขึ้นสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกินเป้าหมาย ยอดการจัดเก็บภาษีโดยรวม 11 เดือนเกินเป้าหมายมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะการเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรเก็บได้มากกว่าเป้าหมายกว่า 2.38 แสนล้านบาท การฟื้นตัวยังมีลักษณะเป็นรูปตัว K ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้มีอานิสงส์ต่อกิจการหรือคนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ยิ่งมีรายได้ระดับสูง กิจการและบุคคลยิ่งมีการฟื้นตัวดี ยิ่งรายได้ต่ำยิ่งฟื้นตัวช้า สภาวะดังกล่าวทำให้ปัญหาการกระจายรายได้แก้ยากขึ้นอีก

“กิจการหรือประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ หรือ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงช่วงล็อกดาวน์โควิด ขณะที่กิจการหรือประชาชนที่สามารถปรับตัวได้ดีกว่าในช่วงล็อกดาวน์โควิดกลับขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ความสมดุลในโครงสร้างตลาดเปลี่ยนแปลงไปในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์ กลุ่มทุนในฐานะผู้ประกอบการมีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้ามากขึ้น ส่วนแรงงานมีอำนาจในการต่อรองเรื่องค่าจ้างน้อยลง ในภาวะที่ตลาดเสียสมดุลเช่นนี้ การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการคลังจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ให้รุนแรงขึ้นอีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรหลีกเลี่ยงมาตรการเข้มงวดเกินไป หรือให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพราคามากเกินไป ทางการควรให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานควบคู่ไปด้วย” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password