‘พาณิชย์’ แจ้งข่าวดีการลงทุนต่างชาติในไทยช่วง 2 ด.แรกปี’68 เติบโตต่อเนื่อง

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” เผย! ข่าวดีต่างชาติลงทุนในไทยเติบโตต่อเนื่อง 2 เดือนแรกปี 2568 ระบุ! ลงทุนแล้ว 35,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 8.7 พันล้านบาท ชี้! กลุ่มญี่ปุ่นลงทุนอันดับหนึ่ง 13,676 ล้านบาท ตามด้วย จีน 5,113 ล้านบาท และสิงคโปร์ 4,490 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2568 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 181 ราย โดยเป็น การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 41 ราย และ การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 140 ราย เงินลงทุนรวม 35,277 ล้านบาท โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 2 เดือนแรก ปี 2568 ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,676 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
– ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
– ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน
– ธุรกิจบริการบริหารจัดการการสั่งซื้อและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติก แม่พิมพ์ เครื่องใช้สำนักงาน ชิ้นส่วนนาฬิกาข้อมือ)
2. จีน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,113 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
– ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
– ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone)
– ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ แม่พิมพ์ ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม ลูกกลิ้งพิมพ์ลายหรืออัดลาย)
3. สิงคโปร์ 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,490 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
– ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
– ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนายางรถยนต์
– ธุรกิจบริการ Data Center
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ Printed Circuit Board ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ)
4. สหรัฐอเมริกา 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,372 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับการซ่อมบำรุงเครื่องประกอบบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องแต่งกาย)
– ธุรกิจบริการคลังสินค้า
– ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต (สิ่งปรุงแต่งอาหาร โลหะผสมสำหรับผลิตเครื่องประดับ)
5. ฮ่องกง 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 1,587 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้งและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์และการให้คำปรึกษาทางเทคนิคในการแก้ไขปัญหาเครื่องจักรระหว่างการใช้งาน เป็นต้น
– ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
– ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ RFID Inlay กระดาษลูกฟูก อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม)
อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้นมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้งทางวิศวกรรมเกี่ยวกับระบบบำบัดและรีไซเคิลน้ำเสีย องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการท่าเทียบเรือและความปลอดภัยการขนถ่ายสินค้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการเชื้อเพลิงอัจฉริยะ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 73 ราย (68%) (เดือน ม.ค. – ก.พ.68 อนุญาต 181 ราย / เดือน ม.ค. – ก.พ.67 อนุญาต 108 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 8,738 ล้านบาท (33%) (เดือน ม.ค. – ก.พ.68 ลงทุน 35,277 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ก.พ.67 ลงทุน 26,539 ล้านบาท) รวมถึงมีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น 784 ราย (140%) (เดือน ม.ค. – ก.พ. 68 จ้างงาน 1,344 คน / เดือน ม.ค. – ก.พ. 67 จ้างงาน 560 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
สำหรับ การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2567 จำนวน 22 ราย (63%) (เดือน ม.ค. – ก.พ.68 ลงทุน 57 ราย / เดือน ม.ค. – ก.พ.67 ลงทุน 35 ราย) โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 17,546 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ * ญี่ปุ่น 19 ราย ลงทุน 8,096 ล้านบาท * จีน 14 ราย ลงทุน 2,751 ล้านบาท * สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,191 ล้านบาท และ ประเทศอื่นๆ อีก 16 ราย ลงทุน 4,508 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (แม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์)
– ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม
– ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone)
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป แม่พิมพ์ เป็นต้น
เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 78 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 58 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 12,118 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ มีการจ้างงานคนไทย 1,344 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการเชื้อเพลิงอัจฉริยะ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันหล่อลื่น องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมจัดการคลังสินค้า เป็นต้น
สำหรับ ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้แก่
– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเคมี
– ธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
– ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ
– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์, น้ำมันหล่อลื่น, ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น.