สรรพสามิตเปลี่ยนยาสูบเป็นยาไล่ศัตรูพืชและสัตว์
กรมสรรพสามิตต่อยอดยุทธศาสตร์ EASE Excise เดินหน้า ESG ทั้งระบบ มอบบุหรี่ของกลาง 3.4 ตัน และองค์ความรู้ให้โรงเรียนทหารการสัตว์ นครนายก หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์สู่ชุมชน ยึดหลักธรรมาภิบาล พร้อมขับเคลื่อนโครงการดีๆ “สรรพสามิตเปลี่ยนยาสูบของกลางสู่ ‘ผลิตภัณฑ์ไล่ศัตรูพืช-ปศุสัตว์’ รับเทรนด์ ESG”
กรมสรรพสามิตเดินหน้ายุทธศาสตร์ EASE Excise เน้น ESG ทั้งระบบ ยกระดับการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายที่มีการลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้เสียภาษี สู่นโยบายในการจัดการของกลางที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ นำนวัตกรรมเข้าจัดการใช้ทุกส่วนของบุหรี่ ทั้งใบยา ก้นกรอง ซองกระดาษ และพลาสติก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิด “Zero Waste” ทั้งยังลดปัญหาผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษ โดยมอบของกลางยาสูบ จำนวน 3.4 ตัน และนวัตกรรมองค์ความรู้ให้กับโรงเรียนทหารการสัตว์ จังหวัดนครนายก นำไปแปรรูปสู่น้ำหมักชีวภาพไล่แมลงศัตรูพืช ส่งต่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ตามที่ กรมสรรพสามิตได้เปิดศูนย์ปราบปราบสินค้าผิดกฎหมายออนไลน์ นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน ตามยุทธศาสตร์ EASE Excise ในการยกระดับเดินหน้าปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายที่มีการลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้เสียภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ค้าขายอย่างสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงยังเป็นการดูแลผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยและได้สินค้าที่มีคุณภาพ ทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566) กรมสรรพสามิตสามารถจับกุมคดีสินค้ายาสูบจากทั่วประเทศได้จำนวนมากถึง 4,809 คดี จำนวน 638,519 ซอง เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 130,000,000 บาท ส่งผลให้มีปริมาณของกลางยาสูบเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากคดีสิ้นสุดแล้ว จะต้องมีการดำเนินการทำลายของกลางให้ไม่สามารถนำกลับมาบริโภคได้อีก
อย่างไรก็ดี ในการทำลายยาสูบของกลางนั้น ต้องคำนึงวิธีการที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ไม่เพียงแค่ควันบุหรี่ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ แต่ส่วนอื่น ๆ ของบุหรี่ยังส่งผลกระทบ ด้วยเช่นกัน จากที่กล่าวมาข้างต้น ด้วย ยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต EASE Excise ที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กรมสรรพสามิตจึงได้มีแนวคิดที่จะนำของกลางยาสูบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมองในมิติต่าง ๆ ดังนี้
1) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ในการลดมลภาวะ จากเดิมในการจัดการของกลางยาสูบ ด้วยวิธีการเผาทำลาย ซึ่งในบุหรี่ 1 มวน ประกอบด้วย ใบยาสูบ กระดาษที่ใช้มวน และสารเคมีหลายร้อยชนิด เมื่อเกิดการเผาไหม้จะทำให้เกิดสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และปัญหาการเผาทำลายนำมาซึ่งการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย ซึ่งได้มีการนำนวัตกรรม การจัดการของกลางยาสูบมาใช้ ด้วยการสร้าง “เครื่องทำลายของกลางยาสูบต้นทุนต่ำ” หนึ่งในตัวอย่างจากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สระแก้ว ซึ่งได้นำมาสาธิตให้กับโรงเรียนทหารการสัตว์ จังหวัดนครนายก
โดยนำเลื่อยวงเดือนมาติดตั้งบนโต๊ะเพื่อตัดทำลายพร้อมคัดแยกก้นกรองและยาสูบออกจากกัน มีการติดตั้งเครื่องดูดและถังกักเก็บฝุ่นละออง เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถตัดทำลายของกลางยาสูบทั้งแบบซองแข็งและซองอ่อนได้ทั้ง carton อย่างต่อเนื่อง ใช้แรงงานควบคุมเพียง 1 คน และใช้เวลาในการตัดทำลาย เพียง 3 วินาที ต่อ 1 carton มีประสิทธิภาพกว่าเดิมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ตัดทำลายได้คราวละ 1 ซอง ใช้เวลาในการตัดทำลาย 10 นาที ต่อ 1 carton เพื่อบรรเทาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการของกลางยาสูบ (การทำลายให้สิ้นสภาพ) และเพื่อปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการจัดการของกลางยาสูบให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านแนวคิด Zero Waste ในการนำทุกส่วนประกอบของยาสูบไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
(1) ยาสูบ นำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยากำจัดศัตรูพืช (ชีวภาพ)
(2) ก้นกรอง สามารถใช้ทดแทนมะพร้าวสำหรับปลูกไม้ดอกไม้ประดับ สร้างพื้นที่สีเขียว
(3) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ นำเข้าสู่กระบวนการ Recycle
(4) ซองและพลาสติก สู่กระบวนการคัดแยกขยะเพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธีต่อไป
2) มิติด้านสังคม (Social) การส่งมอบของกลางยาสูบให้กับโรงเรียนทหารการสัตว์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ศัตรูพืช ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยแก่บุคลากรในโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการเรียนรู้ และสามารถจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในราคาถูกแก่ชุมชนอีกด้วย
3) มิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) การบริหารจัดการสินค้ายาสูบของกลางซึ่งมีจำนวนมากให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน รวมถึงยังเป็นการสร้างความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักธรรมาภิบาล
“การนำบุหรี่ของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้วมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการไล่ศัตรูพืชนี้ เป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทดแทนการใช้สารเคมี (B: Bio) ถือเป็นการนำของเหลือใช้มาหมุนเวียนสร้างคุณค่า (Circular) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรสู่การเติบโตสีเขียว (Green) ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการทำเกษตรให้กับเกษตรกรเป็นการต่อยอดนวัตกรรมและองค์ความรู้การทำลายยาสูบของกลาง ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกรมฯ EASE Excise ที่กรมฯ มุ่งเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของกรมฯ ในการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นทั้งภารกิจหลักของกรมฯ และยังเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน โดยทางสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สระแก้ว มีการสาธิตนวัตกรรมเครื่องตัดทำลายของกลางยาสูบ และมอบองค์ความรู้แลกเปลี่ยนสูตรการทำน้ำหมักเพื่อใช้ในการไล่ศัตรูพืช กับทางโรงเรียนทหารการสัตว์ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนทั้งในด้านองค์ความรู้ในภาคการเกษตร การนำมาแปรรูปเพื่อเป็นยาไล่แมลงศัตรูพืช เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจพอเพียง และสร้างประโยชน์ให้ต่อชุมชนและพี่น้องประชาชนต่อไป” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังได้เป็นประธานจัดกิจกรรม “สรรพสามิตเปลี่ยนยาสูบของกลางสู่ ‘ผลิตภัณฑ์ไล่ศัตรูพืช-ปศุสัตว์’ รับเทรนด์ ESG” เพื่อมอบของกลางยาสูบ จำนวน 3.4 ตัน และนวัตกรรมองค์ความรู้ให้กับโรงเรียนทหารการสัตว์ จังหวัดนครนายก นำไปแปรรูปสู่น้ำหมักชีวภาพไล่แมลงศัตรูพืช ส่งต่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมี พันเอก อำนาจ จังพานิช รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารการสัตว์ เป็นผู้รับมอบของกลางดังกล่าว
ในการนี้ ได้จัดให้มีบูธจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมยาสูบของสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สระแก้ว และเยี่ยมชมขั้นตอนกระบวนการนำยาสูบขอกลางมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมของโรงเรียนทหารการสัตว์ ในการนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิตและคณะผู้บริหารร่วมรดน้ำหมักที่ได้จากการแปรรูปยาสูบของกลางบนแปลงผักสาธิตในครั้งนี้ด้วย โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 2 สรรพสามิตพื้นที่ในสังกัด ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต รวมถึง คณะทำงานตามโครงการศึกษา/วางแผน ESG เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ โรงเรียนทหารการสัตว์ จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566.