BAM จัดงาน ESG DAY 2024 ‘พลังแห่งสิทธิมนุษยชน สู่ความยั่งยืน’ ย้ำจุดยืนองค์กรแห่งความยั่งยืน
BAM จัดงาน ESG DAY 2024 ต่อเนื่องปีที่ 2 ตอกย้ำจุดยืนองค์กรแห่งความยั่งยืน ภายใต้ชื่องาน “พลังแห่งสิทธิมนุษยชน สู่ความยั่งยืน” (The Power of Rights) พร้อมออกบูธกิจกรรมตอบปัญหาด้าน ESG ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ รวมถึงดึงวิทยากรมาร่วมเสวนาให้ความรู้ครบวงจร ยืนยันขอเป็นต้นแบบดำเนินธุรกิจยึดมั่นหลักสิทธิมนุษยชน หวังก่อผลดีและประโยชน์กับองค์กร
บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน มาอย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักการ ESG มาผสมผสานในการดำเนินธุรกิจอย่างครอบคลุม ในปีนี้ BAM ได้จัดงาน ESG DAY 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้ชื่องาน “พลังแห่งสิทธิมนุษยชน สู่ความยั่งยืน”
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อเป็นการตอกย้ำจุดยืนความสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง BAM ได้บูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า สังคมและชุมชน
“ในการดำเนินงานของ BAM เราได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม โดยเน้นการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม คำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียม การไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและสิทธิมนุษยชน ทั้งด้านการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม การจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสม การเคารพความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนพิการ” นายบัณฑิต ระบุ
โดยภายในงานฯ ได้จัดให้มีการออกบูธกิจกรรมถามตอบปัญหาด้าน ESG เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงาน ทั้งในรูปแบบ ออนไซต์ (onsite) และ ออนไลน์ (online) พร้อมทั้งมี การเสวนาให้ความรู้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (ส.พ.ส.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.วุฒิพันธุ์ ตวันเที่ยง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายพัฒนาสินทรัพย์ภูมิภาค และคุณธงชัย ชัยโลหกุลผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายกำกับดูแลกิจการและบริหารความเสี่ยง บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดย “ผู้เข้าร่วมเสวนา” ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในมุมมองและภาพรวมของ BAM กับการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร อาทิ การบูรณาการด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียด้วยความเสมอภาค (Equity) ความเท่าเทียม (Equality) และ ความเป็นธรรม (Fairness) การตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือ Human Rights Due Diligence (HRDD) ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของบริษัท
ทั้งนี้ BAM ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินธุรกิจที่ให้การเคารพสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก (3 Pillars)ได้แก่ เสาหลักที่ 1 การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) รัฐมีหน้าที่คุ้มครองมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เสาหลักที่ 2 การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และ เสาหลักที่ 3 การเยียวยา (Remedy) การแก้ไข ฟื้นฟู ชดเชย เมื่อเกิดผลกระทบหรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ
โดย BAM ได้ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน อันก่อให้เกิดผลดีและประโยชน์กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างผลตอบแทน การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรบุคคลที่ส่งผลในทางบวกต่อการสรรหา จูงใจ และรักษาพนักงานต่อไป.