จ๊อบไทย เผย “อาหารและเครื่องดื่ม” เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

www.jobthai.com เปิด 5 กลุ่มธุรกิจที่ต้องการแรงงานมากที่สุด เผย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มรับมากอันดับ1 ถึง 1.67 แสนคน ตามมาด้วยธุรกิจค้าปลีก และ ชิ้นส่วนยานยนต์

วันที่ 11 พ.ย.2566 นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทยwww.jobthai.com เปิดเผยว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศของผู้ใช้งานจ๊อบไทยพบสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

คนทำงานอายุ 25 – 34 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก  โดยผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุ 25 – 34 ปี คิดเป็น 30.27% ลำดับถัดมาเป็นช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป คิดเป็น  25.09% ช่วงอายุ 35 – 44 ปี คิดเป็น  23.45% และอายุ 18-24 ปี คิดเป็น  21.19% 

ระดับการศึกษาและสาขาของผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น  69.69% ระดับ ปวส. คิดเป็น 14.22%  ระดับปริญญาโท คิดเป็น 4%และในระดับการศึกษาอื่น ๆ รวมกันอยู่ที่ 12.09%เมื่อแยกตามสาขาวิชาที่จบของผู้หางาน พบว่าอันดับหนึ่ง ได้แก่ บัญชี/การเงิน/การธนาคาร 10.88% อันดับสอง การบริหาร/การจัดการ/บุคคล 9.66% อันดับสาม เลขา/ประชาสัมพันธ์/ธุรการ/คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 7.91% อันดับสี่ ช่างอิเล็กทรอนิกส์/ช่างไฟฟ้า/ช่างคอมพิวเตอร์ 6.28%อันดับห้า อักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/มนุษยศาสตร์ 5.53%

ขณะเดียวกันพบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม  เปิดรับรวม167,261 อัตรา เนื่องมาจากการด้านท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศกลับมาฟื้นตัว ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจะเห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดภัตตาคารและโรงแรมที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2  (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยังคงมีการจ้างงานสูงเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค 

2. ธุรกิจค้าปลีก เปิดรับรวม 137,421 อัตราการขายปลีกยังคงมีขยายตัวทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้มีการประเมินถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปี 2566 ว่ามีการขยายตัวเติบโตต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยบวกจากการกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ยอดค้าปลีกสูงขึ้นในครึ่งแรกของปี เช่น ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน 

3. ธุรกิจยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์  เปิดรับรวม 119,609 อัตรา อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่งและการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐที่มีมาตรการต่าง ๆ อาทิมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ภาครัฐให้เงินอุดหนุนคันละ 70,000-150,000 บาท ส่งผลให้เกิดการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศและมีการจ้างงานในธุรกิจนี้ 

4. ธุรกิจก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง เปิดรับรวม 108,491 อัตรา มีปัจจัยสนับสนุนจากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่อเนื่องจากในอดีต และมีความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ และการขยายตัวต่อเนื่องของการก่อสร้างภาคเอกชนในการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ และการก่อสร้างโครงการ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ที่มา :ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC))

5. ธุรกิจบริการ  เปิดรับรวม 106,143 อัตราเนื่องจากการขยายตัวที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ตลอดจนการมาทำกิจกรรมนอกบ้านของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับอานิสงค์จากภาคการท่องเที่ยวนั้นมีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password