“ศิริกัญญา” ชี้เงิน “ดิจิทัล”ไม่เร่งด่วน ค้านส่งศาลทำแท้ง “ปลัดคลัง” ยันไม่กระทบหนี้สาธารณะ

‘ศิริกัญญา’ ชี้โครงการ ‘เงินดิจิทัล’ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หวั่นออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ส่อขัด รธน. สร้างภาระการคลังระยะยาว แต่ยัน ‘ก้าวไกล’ ไม่เห็นด้วยใช้ช่องยื่นร้องศาล รธน.ทำแท้ง ด้าน’ปลัดคลัง’ ย้ำกู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่กระทบเพดานหนี้สาธารณะ

วันที่ 10 พ.ย. 2566 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ให้สัมภาษณ์กรณี การชี้แจงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ว่าสิ่งที่นายกฯ แถลงวันนี้ เป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหนในการดำเนินนโยบาย สุดท้ายต้องกู้มาแจก และเทคโนโลยีจากซูเปอร์แอปพลิเคชันที่ย้อนกลับมาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ซ้ำร้าย เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยสักคนเดียว เพราะทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้าน ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกฯ และพรรคเพื่อไทยย่อมทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยปัดตก พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อจะทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2556

“หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชน ว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต หากมีบรรดานักร้องหรือผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญ ในการปัดตกร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ขอยืนยัน ช่องทางในการร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้น พรรคก้าวไกลจะไม่ไปร้องแน่นอน และขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ควรให้จบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง

“แต่ถ้าถึงที่สุด เกิดอภินิหารและร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านสภาไปได้ การผ่อนชำระคืนใน 4 ปี บวกดอกเบี้ยในแต่ละปี จะสร้างภาระทางการคลังขึ้นไปเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล เท่ากับเก็บภาษีมาได้ก็เอาไว้จ่ายคืนหนี้ ดอกเบี้ยต่องบประมาณจะทะลุ 10% ในปีงบ 2568 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสถาบันจัดเครดิตเรตติ้งเฝ้าจับตาเพื่อรอหั่นเรตติ้งอยู่แน่นอน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลให้เหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำนโยบายนี้ เพราะต้องการกอบกู้หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จะพูดเช่นนั้นก็ได้ แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วน ครั้งแรกรัฐบาลพูดว่าต้องดำเนินโครงการนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตอนนี้เลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะต้องรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้วยไทม์ไลน์แบบนี้ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพราะวิกฤตเกิดวันนี้ โอกาสที่จะแก้ไขต้องเกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ใช่ 6 หรือ 8 เดือนข้างหน้า

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อีกประการ คือการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จำเป็นต้องผ่านสภาฯ 3 วาระ มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านในเวลาอันรวดเร็วแม้รัฐบาลจะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ เห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนที่แท้จริงหรือฟังขึ้น

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของจีดีพี โดย ณ สิ้นงบประมาณ2566 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณ 62 % ต่อจีดีพี ยังเหลือช่องว่างที่จะกู้ได้อีก 8% หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจรายละเอียดของร่างกฎหมายก่อน หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password