ศูนย์วิจัยกสิธร ชี้! สงคราม”รัสเซีย-ยูเครน” ทำคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ลดลง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ รายจ่ายหมดไปกับค่าอาหาร โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์ และ น้ำมันพืช และให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค

วันที่ 17 มี.ค.2565 รายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนที่ตึงเครียด และส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อต้นทุนการผลิต ทำให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น คาดว่าอัตราการขยายตัวของระดับการบริโภคสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 คงจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 2.1% โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่า ปริมาณการบริโภคจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย ได้แก่ ผัก ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐานที่ยังจำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งผู้บริโภคยังสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายอยู่

นอกจากนี้ แม้แนวโน้มของต้นทุนการผลิตจะขยับขึ้น แต่ในหลายรายการยังเป็นสินค้าควบคุม ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะไม่จำกัดการซื้อมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอื่นๆ ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่า ปริมาณการบริโภคน่าจะหดตัว ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารสำเร็จรูป ปลาและอาหารทะเล ผลไม้ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาจำหน่ายสูงและมีความจำเป็นรองลงมา รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มของราคาเพิ่มสูงต่อเนื่อง อาทิ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคอาจจำกัดการซื้อลงบ้าง เพื่อให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด

รายงานระบุต่อว่า มุมมองที่ระมัดระวังต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้ คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มในประเทศปี 2565 อาจอยู่ที่ระดับ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.9%-2.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 2.5% โดยการเติบโตของมูลค่าตลาดมาจากผลด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งขยายตัวราว 3.1% จากต้นทุนการผลิตที่ขยับขึ้นและส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาจำหน่าย ในขณะที่ระดับการบริโภคในภาพรวมอาจทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ที่ 0.6%

ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และ สถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้อีก โดยจากผลกระทบต้นทุนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภค โดยคาดว่าผู้บริโภคจะให้น้ำหนักต่องบประมาณในการใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปตามความจำเป็น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password