ผู้ว่าแบงก์ชาติ รับ “3 ปัจจัยหลัก” กดดันบาทอ่อนค่า ปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รับ 3 ปัจจัยหลักกดดันบาทอ่อนค่า ดอลลาร์แข็ง-เงินบาทผูกกับเงินหยวน-ทองร่วง ย้ำปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมติดตามใกล้ชิด
วันที่ 4 ต.ค.2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Futuer Today ในหัวข้อ โอกาสก้าวหน้าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2024 ว่าปัญหาอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาจาก 3 เรื่องหลักคือ 1.เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่า ทำให้บาททะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 2.เงินบาทผูกกับเงินหยวนของจีน นับว่ามีความสัมพันธ์การค้า การลงทุนเชื่อมโยงอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจจีนมีปัญหาทำให้นักลงทุนมองไทยมีปัญหาตามไปด้วย 3.ราคาทองคำลดลงต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เพราะราคาทองคำของไทย เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทสูงมากกว่าประเทศอื่น เพราะคนไทยชอบซื้อขายทอง ยอมรับว่าเงินบาทอ่อนค่าร้อยละ 9 มากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะเกาหลี
โดยกรณีค่าเงินบาท อ่อนค่า 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รับผลกระทบหนักสุดจากสกุลดอลาร์แข็งค่า และราคาทองคำลดลงมาก การใช้มาตรการดูแลค่าเงิน ธปท.จะไม่กำหนดค่าเงินบาทไว้ ความเสี่ยงไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐาน แต่มาจากเงินดอลลาร์แข็งค่า ยืนยันว่า ธปท.ไม่ตรึงค่าเงินบาทที่เหมาะสม หวั่นเกิดการเก็งกำไรหนัก การอ่อนค่าของเงินบาท จนกระทบเศรษฐกิจนั้น ยอมรับว่าไทยมีภูมิคุ้มกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นต่อเนื่องถึงปีหน้า จากการฟื้นตัวท่องเที่ยว ภาระหนี้ต่างประเทศต่ำ จึงลดผลกระทบต่อการเก็งกำไรค่าเงินบาท
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการบริโภคในประเทศไตรมาส 2 นับว่าเติบโตค่อนข้างดีมีสัดส่วนร้อยละ 7.8 สูงสุดในรอบ 20 ปี เงินเฟ้อเดือน ส.ค.66 ร้อยละ 0.9 นับว่าเงินเฟ้อต่ำสุดในอาเซียน แนวโน้มมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาเอลนิญโญ่ ราคาเกษตรสูงขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายภาครัฐอาจทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้น ด้านเสถียรภาพหนี้ครัวเรือนสูงร้อยละ 90.7 ของจีดีพี ยอดหนี้ NPL ร้อยละ 2.6 ยอมรับว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทยใกล้เคียงมาเลเซีย
ทั้งนี้ ธปท.เป็นห่วงมากคือ ศักยภาพเศรษฐกิจของไทย เพราะยังมีโรคเรื้อรังหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาเชิงโครงสร้าง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยเน้นเรื่องการใช้เงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่จุดอ่อนไหวทำให้เกิดปัญหาคือ ปัญหาแรงงาน บุคคลากร หนี้ครัวเรือน การศึกษาจึงต้องเบนเข็มหันมาดูแลปัญหาเหล่านี้ เพื่อรักษาอาการรุนแรง ขณะนี้ยอมรับว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มาจากยอดนักท่องเที่ยวไหลเข้าประเทศ และในปีหน้า ธปท.คาดการณ์จีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการส่งออกเริ่มดีขึ้น และมีแรงส่งฟื้นตัวต่อเนื่อง เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังพอใจ หากแก้ปัญหาเหล่านี้จะมีโอกาสฟื้นตัว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดิจิทัลวอเล็ตที่มีนายกฯเป็นประธานจะได้แสดงความเห็นด้านต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น สำหรับการหารือกับนายกฯไม่มีความขัดแย้งกัน ยอมรับการหารือในการทำงาน มีการเสนอความเห็นด้านต่างๆ ไม่ใช่จะทำงานร่วมกันไม่ได้ แม้การหารือในออฟฟิศ ยังต้องมีข้อโต้แย้งร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องปกติของการทำงาน.