กสทช.เปิดประมูล ชิงคลื่นFM ‘อสมท-จีเอ็มเอ็ม’ ร่วมวง

กสทช. จัประมูล เปิดชิงคลื่น ‘เอฟเอ็ม’ รวม 71 คลื่นความถี่ วงเงิน กว่า 448 ล้านบาท โดยมี ผู้ประกอบการ จำนวนมาก แห่ชิง โดย อสมท ขอจอง 15 คลื่นความถี่ ขณะ จีเอ็มเอ็ม เล็ง”กรีนเวฟ”

สำนักงานคณะกรรมการกิจกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประมูลจัดสรรใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

โดยเปิดประมูลทั้งหมด 74 คลื่นความถี่มีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่ และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่ โดยราคาขั้นต้นรวม 448.69 ล้านบาท

โดยการประมูลจะแบ่งเป็น 4 รอบ โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลเป็นนิติบุคคล ที่เข้าร่วมประมูลในรอบที่ 1 จำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประมูล 15 คลื่นความถี่ 2.บริษัท จีเอ็มเอ็มมีเดีย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คลื่นความถี่ 3.บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ประมูล 11 คลื่น 4.บริษัท วี.ซี.สปอตโปรดักส์ชั่น จำกัด ประมูล 1 คลื่น 5.บริษัท รุ้งรชต บรอดแคสติ้ง จำกัด ประมูล 1 คลื่น 6.บริษัท เค.ซี.เอส แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ประมูล 3 คลื่น7. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีระยา มีเดียกรุ๊ป ประมูล 1 คลื่น8.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรอาศิรา ประมูล 1 คลื่น 9.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวรรค์อีสานใต้ ประมูล 1 คลื่น 10.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุภัคพร กรุ๊ป ประมูล 1 คลื่น

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หลังเสร็จสิ้นการประมูล รองศาสตราจารย์ เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ผู้อำนวยการใหญ่ อสมท นัดแถลงข่าวสรุปภาพรวมการการประมูลในส่วนของอสมท และแนวทางบริหารจัดการคลื่นวิทยุด้วย ขณะที่ จีเอ็มเอ็ม หรือ “แกรรมมี่” มีรายงานว่า ต้องการคลื่นความถี่เดียวที่ต้องการคือ “กรีนเวฟ”

สำหรับขั้นตอนการประมูล มีกำหนดระยะเวลาการประมูล 60 นาทีต่อคลื่นความถี่ โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องเสนอราคาแรกภายใน 5 นาทีแรกของการประมูล หากไม่เสนอจะถือว่าไม่ประสงค์ในการเข้าประมูล จะถูกตัดสิทธิ์และริบหลักประกัน หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาเท่ากัน จะขยายเวลาการประมูลออกไปอีกครั้งละ 5 นาที หากไม่มีการเสนอราคาเพิ่ม จะให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคาเท่ากัน จับสลากเพื่อหาผู้มีสิทธิ์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูลและสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำหรับเงื่อนไขการประมูลการกำหนดพื้นที่การให้บริการออกอากาศ ในแผนคลื่นความถี่ ตรงนี้ บอร์ดกสทช. มีข้อเห็นแย้งกันอย่างมาก เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นการล็อกสเปกให้แก่ บริษัท ยักษ์ใหญ่ด้านวิทยุกระจายเสียง เพราะจากการกำหนดพื้นที่ให้บริการออกอากาศเป็นพื้นที่เดิม ซึ่งแปลว่า เสาสัญญาที่ตั้งอยู่ก็เป็นของรายเดิมไม่ต้องมีการลงทุนขยายเสาสัญญาณแต่อย่างใด และในประกาศไม่ได้กำหนดราคาค่าเช่าเสา ซึ่งหากมีผู้ชนะประมูลที่ไม่ใช่รายใหญ่ ชนะประมูล แต่ไม่มีโครงข่าย ก็จะต้องมาเช่าเสา ซึ่งเจ้าของเสาสัญญาณ จะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด รวมถึงการเปลี่ยนผ่าน บอร์ดกสทช.ชุดเก่า ไปสู่บอร์ดชุดใหม่ จึงไม่สมควรที่จะจัดในช่วงเวลานี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password