‘พาณิชย์’ ชี้เป้าขาย ‘เฟอร์นิเจอร์-ของตกแต่ง’ รุกตลาดเช็ก รับตลาดอสังหาริมทรัพย์บูม!

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสาธารณรัฐเช็ก พบมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลเกิดความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ชี้! เป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดส่งออก แนะเน้นสินค้าที่ใช้วัสดุ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดราคาให้ดึงดูดใจ มั่นใจแข่งขันได้แน่

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ที่ให้ “ทูตพาณิชย์” ประจำอยู่ประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้าและโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ล่าสุด กรมฯได้รับรายงานจาก น.ส.นภัสชล วัฒนานุกูล ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ถึงการสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ฯ รวมถึงโอกาสส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านของไทย เพื่อป้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูล Eurostat ระบุว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสาธารณรัฐเช็กเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ราคาเติบโตมากที่สุดในสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา การฟื้นตัวของตลาดเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราดอกเบี้ยลดลง และนักลงทุนสถาบัน เข้าซื้ออาคารอพาร์ตเมนต์เพื่อวัตถุประสงค์ในการเช่า ประกอบกับข้อมูลของ Mr. Martin Vašek ซีอีโอของธนาคาร ČSOB Hypoteční banka ให้ข้อมูลว่า ทั้งโครงการก่อสร้างใหม่และอสังหาริมทรัพย์เก่าต่างก็มีความต้องการสูงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Ipsos พบว่า ในเมืองใหญ่ ๆ ของสาธารณรัฐเช็ก อพาร์ตเมนต์โดยเฉลี่ย มีราคาอยู่ที่ 110,100 เช็กคราวน์ (ประมาณ 182,700 บาท) ต่อตารางเมตร ซึ่งหมายความว่า อพาร์ตเมนต์ขนาด 70 ตารางเมตร จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 7.7 ล้านเช็กคราวน์ (ประมาณ 12.78 ล้านบาท) เมื่อมองไปข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าราคาจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง Komerční banka คาดการณ์ว่าราคาบ้านและอพาร์ตเมนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ในปีนี้ ขณะที่ ธนาคารแห่งชาติของสาธารณรัฐเช็กคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ แต่ข้อมูลในช่วงต้นปี 2025 ยืนยันแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างสูง โดยอพาร์ตเมนต์เก่ามีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในไตรมาสแรก
สำหรับ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองเบอร์โน (Brno) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 รองจากกรุงปราก กำลังฟื้นตัวอย่างน่าทึ่ง หลังจากผ่านช่วงที่ซบเซามาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะทำเลใจกลางเมืองและทำเลใกล้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดได้ผ่านช่วงต่าง ๆ ที่แตกต่างกันหลายช่วง จนถึงปี 2022 ตลาดมีลักษณะเฉพาะ คือ มีความต้องการสูง แต่อุปทานมีจำกัด ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเงื่อนไขการจำนองที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตลาดถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 2020–2021 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน ต้นทุนพลังงานที่สูง และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพง
ส่วนใน ปี 2024 ตลาดได้แสดงสัญญาณการฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยที่คงที่และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่ฟื้นคืนมา ทำให้มีการซื้อขายเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อในปัจจุบันมีการเลือกสรรที่ระมัดระวังมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการดูแลอย่างดีและประหยัดพลังงานพร้อมระเบียงและสวน อพาร์ทเมนต์เพื่อการลงทุนกำลังได้รับความนิยมอีกครั้ง แม้ว่าจะมีผลตอบแทนต่ำกว่าเดิ มก็ตาม

“จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเช็กมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 สาธารณรัฐเช็กนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่า 22,016 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี สโลวาเกีย และออสเลีย ตามลำดับ สำหรับ การนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน สาธารณรัฐเช็กนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 7,495 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศโปแลนด์ เยอรมนี จีน ฮังการี และโรมาเนีย ตามลำดับ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออก สินค้าวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน มายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณา วัสดุ สินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน และการกำหนดราคาสินค้าที่น่าดึงดูดใจ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เน้นเรื่องราคาเป็นสำคัญ” น.ส.สุนันทา กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.
You may also like
