พาณิชย์คาดยอดขายพุ่ง! หลังขึ้นทะเบียน GI ‘ทุเรียนบางนรา’ มั่นใจสร้างรายได้แก่เกษตรกรเกิน 2.5 พันล./ปี
รมช.พาณิชย์ “นภินทร ศรีสรรพางค์” ประเมินหลังขึ้นทะเบียน GI “ทุเรียนบางนรา” ของดีจังหวัดนราธิวาส คาดสร้างรายได้ให้ชาวสวนกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี เหตุมีเนื้อละเอียด รสชาติหวานมันกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทยต่อเนื่อง โดยผ่านการขึ้นทะเบียนและการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน
“ทุเรียนบางนรา” เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดนราธิวาสต่อจากสินค้าปลากุเลาเค็มตากใบ ลองกองตันหยงมัสและข้าวหอมกระดังงานราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ และเป็นสินค้า GI ทุเรียนไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 18 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI มากที่สุด
ทั้งนี้ “ทุเรียนบางนรา” เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และมูซังคิง ที่มีลักษณะเนื้อค่อนข้างละเอียด เนื้อสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัวตามสายพันธุ์ ปลูกในแถบพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี และบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้องและอำเภอบาเจาะ ซึ่งทุเรียนที่ปลูกบริเวณนี้ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนคุณภาพดี เนื่องด้วยวิถีของเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลแบบผสมผสานและพัฒนาสู่การปลูกทุเรียนเป็นพืชหลัก ต้นทุเรียนจึงได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี
ประกอบกับ ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ คือ ดินดี น้ำดี อากาศดี ตั้งแต่ภูเขาจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำสายบุรีอีกทั้งมีป่าฮาลาบาลาที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “อเมซอนแห่งเอเชีย” โอบล้อมพื้นที่ทำให้ “ทุเรียนบางนรา” มีคุณภาพดี เนื้อละเอียดและค่อนข้างแห้ง เคี้ยวละมุนลิ้น รสชาติหวานมันกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการนำผลผลิตทุเรียนไปจำหน่ายในงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี จนสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 212 สินค้า มูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาทต่อปี กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่องโดยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญทุกท่าน ร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วน.