งานวิจัยชี้! ‘เงินดิจิทัลฯ’ ไหลสู่โชห่วย/ร้านค้าย่อย หาใช่ร้านสะดวกซื้อ!

อิงข้อมูล SCB EIC ชี้! ผลสำรวจระบุชัด “ดิจิทัลวอลเล็ต” ไหลไปสู่โชห่วย/ร้านค้าย่อยกว่า 9 แสนร้าน ไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อที่มีแค่ 2 หมื่น !?!?

เป็นที่สนใจของสังคมมากสำหรับ เงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะทันทีที่รัฐบาลออกมาประกาศเดินหน้าโครงการนี้อย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลายกลุ่มก็ออกมาแสดงทัศนะในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการวิพากวิจารณ์ว่า ใครได้ประโยชน์จากโครงการนี้บ้าง จน “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” นายชัย วัชรงค์ ต้องออกมาให้ข้อมูลเพิ่มว่า เงินที่ลงไปจะหมุนไปยังรากหญ้าแน่นอน เพราะหากดูตัวเลขร้านค้าที่เคยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมีมากกว่า 1.2 ล้านราย โดยคาดว่าร้านค้าเหล่านี้จะมีโอกาสสูงที่จะเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยแบ่งเป็นร้านค้าปลีก กว่า 900,000 ราย ร้านโชห่วย อีกกว่า 300,000 ราย ส่วนร้านสะดวกซื้อที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้ครั้งนี้มีเพียง 20,000 ราย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการจับจ่ายใช้สอย

และเมื่อมาดู ข้อมูลที่ SCB EIC (Economic Intelligence Center) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้หลังจากที่ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่าน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีตัวเลขที่น่าสนใจมาก… 

ผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาทครบภายใน 6 เดือน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) หรือ กลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการ

โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น, ซีเจ, โลตัสโกเฟรช 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด รองลงมาเป็นร้านอาหารและร้านขายยา

สำหรับ ร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตร คาดว่าจะได้อานิสงส์อยู่บ้าง โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายในร้านค้าเหล่านี้เป็นอันดับที่ 5 โดยผู้มีสิทธิที่รายได้สูงหรืออยู่ในกรุงเทพฯ/หัวเมืองใหญ่จะนำไปใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์ยานยนต์ ขณะที่ผู้มีสิทธิอยู่ต่างจังหวัด/รายได้น้อยจะเลือกใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์การเกษตร

กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลง หากได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย โดยบางส่วนจะนำเงินส่วนตัวที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการให้ญาติใช้จ่าย/นำไปลงทุนธุรกิจต่อ

หากรวมเงินที่เข้าสู่ระบบข้างต้น จะพบว่าราว 30% ของผู้มีสิทธิทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 4-7 หมื่นบาท) – ปานกลาง (1.5-4 หมื่นบาท)- น้อย (< 1.5 หมื่นบาท) มีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย

และ ส่วนใหญ่จะนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและของสด หรือ Grocery ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด

ในส่วนของ ร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิในโครงการ แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิฯ มาใช้จ่ายต่อไปยังร้านค้าอื่น ๆ เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต็อกสินค้าในร้านค้า เป็นต้น

การกระจายเงินดิจิทัลวอเล็ตในครั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่เชื่อว่าน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนอย่างทั่วถึง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password