กกร.ชี้ เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ส่งออกฟื้นตัวได้ช้า

กกร.ชี้ เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ส่งออกฟื้นตัวได้ช้า การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม แนะ 4 ประเด็น จัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ พร้อมจี้ภาครัฐรัดกุมคุณภาพและมาตรฐานผัก ผลไม้นำเข้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมในการแถลงข่าว ระบุว่า

เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯด้านแรงงานเริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง ส่วนจีนนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีจำกัด สำหรับปัญหาวิกฤตในทะเลแดงส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าไทย

เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย โดยการส่งออกยังฟื้นตัวได้ช้า การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม และกำลังซื้อภายในประเทศถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าการส่งออกจะเติบโตได้ในระดับต่ำ อีกทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศยังมีสูง ขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง 50% เนื่องจากชาวจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ปัญหาหนี้และกำลังซื้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือนต่อไป

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 จากปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ปรับเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และจะหนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.3% ตามที่ประเมินไว้เดิม

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
%YoY ปี 2566
(ณ ธ.ค. 66) ปี 2567
(ณ ก.พ. 67) ปี 2567
(ณ มี.ค. 67)
GDP 1.9* 2.8 ถึง 3.3 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก -1.7* 2.0 ถึง 3.0 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 1.2* 0.7 ถึง 1.2 0.7 ถึง 1.2
หมายเหตุ: *เลขจริง

กกร. ให้ความสำคัญกับกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่ ครม. ได้มีมติรับหลักการ และมอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ. อยู่นั้น ดังนั้น เพื่อให้การกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความยั่งยืน และครอบคลุมปัญหาในทุกมิติทั้งจากปัญหา PM2.5 การเผาในที่โล่ง มลพิษจากภาคขนส่ง และมลพิษข้ามแดน กกร. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ดังนี้

  1. เสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชนจำนวน 4 ท่านเท่ากับภาคประชาชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 คณะ ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด 2) คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 3) คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
  2. บูรณาการการกำกับดูแล ด้านมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ดัชนีคุณภาพอากาศ และมาตรฐานการควบคุมต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน
  3. ทบทวนการวางหลักประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในการขออนุญาตประกอบกิจการ โดยควรนำเอาระบบการซื้อประกันภัยมาใช้ทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมทั้งปรับบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
  4. ทบทวนการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
  5. ศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศไทย โดยในเดือนมกราคมการนำเข้าสินค้าได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,275.20 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.45 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการที่ผักและผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยรัดกุมในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผักและผลไม้ รวมทั้ง เพิ่มกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าผักและผลไม้ที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password