CtrlS เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ EECd ตั้งโครงการHyperscale Datacenter ในไทย

อีอีซี เซ็นสัญญาร่วม CtrlS เช่าพื้นที่ฯ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใน EECd เตรียมตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenter)ชั้นนำระดับโลก ดึงเงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เข้าประเทศไทย

วันนี้ (2 ก.พ.2567) ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd จังหวัดชลบุรี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท CtrlS Datacenters จากประเทศอินเดีย เพื่อตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenter) ในประเทศไทย โดยมี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี และ Mr.Siddharth Singh รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Vice President, Marketing) บริษัท CtrlS Datacenters เป็นผู้ลงนามสัญญา

การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของพื้นที่อีอีซี โดยบริษัท CtrlS ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านดิจิทัลได้สูงสุด

และถือเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก รับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซี ประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิ้ลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ

คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI ,Cloud ,IoT ,Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password