‘เอสซีจี’ ทุ่มงบปี 67 กว่า 40,000 ล้าน ทรานส์ฟอร์ม 6 ธุรกิจ ดันเป้ายอดขายโต 20%

“เอสซีจี” ทุ่มงบลงทุนปี 67 ที่ 40,000 ล้าน ลุยนวัตกรรมพลังงานสะอาด ตั้งเป้ายอดขายโต 20% ปัจจัยนโยบายภาครัฐอนุมัติงบลงทุน ลุยส่งออกปูนคาร์บอนต่ำสู่ตลาดสหรัฐ ปิโตเคมีเวียดนาม LSP เตรียมป้อนนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงสู่ตลาดโลก ปักหมุดซาอุฯ เชื่อมต่อการค้าโลก

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า การดำเนินงานปี 2567 จะเติบโตอย่างเต็มที่ทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยนวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ สมาร์ทโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัย พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ พลังงานสะอาดครบวงจร และนวัตกรรมเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงจากโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ เน้นบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการของไทย คาดว่าตลาดอาเซียนจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เอสซีจีจะมุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีนที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจพร้อมสร้างสังคม Net Zero ตั้งเป้ารายได้จากยอดขายปี 2567 โต 20% โดยตั้งงบลงทุน 40,000 ล้านบาท เน้นนวัตกรรมรักษ์โลก พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีความต้องการและเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากยอดขาย SCG Green Choice ปี 2566 อยู่ที่ 54% ของยอดขายทั้งหมด อีกทั้งเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) เพิ่มความหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้า

ทั้งนี้ เอสซีจี ได้พร้อมทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจตามกลยุทธ์สร้างความคล่องตัว แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาว เพื่อรับความท้าทายต่าง ๆ ให้ทันท่วงที เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งผันผวน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผ่าน 6 ธุรกิจหลัก คือ

  1. ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC ซึ่งตลาดปิโตรเคมีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นและอุปทานที่ลดลง โดยจะเร่งพัฒนาพลาสติกรักษ์โลก สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาตลาดมีความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้มียอดขายปี 2566 อยู่ที่ 39% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ทั้งนี้ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM ในปีที่ผ่านมามียอดขายเติบโตอยู่ที่ 218,000 ตัน เพิ่มขึ้น 56% จากปีก่อน ตั้งเป้าสู่ Green polymer 1 ล้านตัน ในปี 2573

  1. ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน โดยปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนมาอยู่ที่ 40% ดังนั้น ปี 2567 จะเดินหน้าผลิตและส่งมอบโซลูชันรับการฟื้นตัวของตลาดไทย ทั้งในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ควบคู่กับตอบสนองความต้องการของตลาดอาเซียน ผ่านโซลูชันการออกแบบอาคารที่ช่วยคำนวณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้าง ด้วยแพลตฟอร์ม KITCARBON
  2. ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง จะเน้นบริหารจัดการต้นทุนด้วยการปรับใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต พร้อมทั้งพัฒนาสมาร์ทโซลูชันตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน มีสุขอนามัยที่ดี ห่างไกล PM 2.5 และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น SCG Active Air Quality นวัตกรรมเติมอากาศดีให้บ้าน ป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 เชื้อโรค แบคทีเรีย และ ไวรัส เป็นต้น
  3. ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล เร่งขยายความแข็งแกร่งสู่ตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างภูมิภาค SAMEA (เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) โดย SCG International ตั้งสำนักงานในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมเป็น International Supply Chain Partner บริหารจัดการตั้งแต่การหาแหล่งผลิตสินค้าจนถึงการสร้างตลาดให้คู่ค้าจากทั่วทุกมุมโลก ขยายโอกาสธุรกิจและเจาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สร้างสังคม Net Zero ผ่านกลุ่มสินค้าซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างรักษ์โลก พร้อมด้วยกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม กระดาษและแพคเกจจิ้ง
  4. ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากตามทิศทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของโลก โดยใช้ระบบ Smart Grid ช่วยให้การซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้าสะดวกยิ่งขึ้น ปี 2566 มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 450 เมกะวัตต์ ล่าสุด ได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล เตรียมขยายไปยังตลาดอาเซียน ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2567
  5. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP จากไตรมาส 4 ปี 2566 ความต้องการภาคบริโภคในเวียดนาม และอินโดนีเซียเริ่มฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสินค้าส่งออก โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยง และในปี 2567 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งออก จึงมุ่งนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทั้งขยายกำลังการผลิตและ M&P ในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

“ภาพเศรษฐกิจของไทยปีนี้น่าจะขยับตัวดีขึ้น เมื่อรัฐบาลอนุมัติงบประมาณก็เชื่อว่าจะมีการขยับตัวในทางที่ดีมีดีมานด์เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจะกลับมามากขึ้น รวมถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเชิญนักลงทุนต่างประเทศน่าจะเริ่มเข้ามา”

สำหรับผลประกอบการปี 2566 อยู่ในระดับที่มั่นคง แม้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จีน และอาเซียนชะลอตัว ตลาดปิโตรเคมียังอ่อนตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง มีรายได้ 499,646 ล้านบาท ลดลง 12% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง และการไม่รวมยอดขายของ SCG Logistics กำไร 25,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากกำไรของการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ส่วนผลดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 120,618 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งไม่รวมรายการพิเศษ 502 ล้านบาท ทั้งนี้ มีขาดทุนสำหรับงวด 1,134 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในเมียนมา และรวมผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมี ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ และมีเงินสดคงเหลือ 68,000 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password