“พิมพ์ภัทรา” เผยแนวทางพัฒนาอุตฯไทยสู่ความยั่งยืน

ก.อุตสาหกรรม เผยแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม เปิดเผยในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ความท้าทายและโอกาส พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยกับ“พิมพ์ภัทรา” ว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยนโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับ การผลิตให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Value Chain ของโลก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยนำมาตรฐานผลิตภาพ และนวัตกรรม (SPRING) มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมศักยภาพและเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ

รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่างๆ ผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการผลิตและผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ที่สามารถเข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพ

“กระทรวงฯให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) (Landbridge) ซึ่งเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย โดยจะช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก และรองรับและส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยกระทรวงฯ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโต อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้นในอนาคต” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการใน นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญของ กนอ.ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม บริหารจัดการสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานของ กนอ. รวมถึงสร้างแรงงานที่มีศักยภาพ ไปจนถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานในวันนี้ (15 ม.ค.67) ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password