กพร. – มช. บริหารจัดการพื้นที่ หินอุตสาหกรรมรองรับการพัฒนาประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “สถานภาพของพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” เพื่อรองรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพเชิงพื้นที่ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลกระทบ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “สถานภาพของพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน” ว่า หินอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับรองรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
และยังเป็นวัตถุดิบที่มีความจำเป็นต่อการขยายและพัฒนาเมืองในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนั้น กพร. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการบริหารจัดการพื้นที่ศักยภาพหินอุตสาหกรรมของประเทศทั้งในภาพรวมของประเทศและในเชิงพื้นที่ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นางสาวกิตติ์สิริ แก้วพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุดิบอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า“การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอการบริหารจัดการพื้นที่ศักยภาพหินอุตสาหกรรมที่ใช้สำหรับรองรับการใช้หินอุตสาหกรรมในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน และลำปาง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงสถานะปัจจุบัน และการดำเนินการของภาครัฐ ภายใต้โครงการการประมวล ทบทวน ประเมินข้อมูลสถานภาพของพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมทั่วประเทศเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในการประชุมจะมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อการประเมินปริมาณสำรองหินอุตสาหกรรมคงเหลือในพื้นที่ที่ทำการศึกษาแนวทางการประเมินความต้องการใช้หินอุตสาหกรรมเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่และการสำรวจพื้นที่ศักยภาพหินอุตสาหกรรมสำหรับรองรับความต้องการใช้พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง”
“การบริหารจัดการหินอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการบริหารจัดการวัตถุดิบอุตสาหกรรม (แร่) ของ กพร. เพื่อรองรับการพัฒนาและตอบโจทย์ความต้องการใช้วัตถุดิบอุตสาหกรรมให้เพียงพอ ลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมแร่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นางสาวกิตติ์สิริฯ กล่าวทิ้งท้าย