SCB CIO ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจปี 67 สหรัฐ-ญี่ปุ่นชะลอตัวแบบจัดการได้ จีน-เวียดนามมีโอกาสชะลอตัวค่อนข้างมาก
SCB CIO เผยแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 สหรัฐ-ญี่ปุ่น ควงแขนชะลอตัวแบบจัดการได้ ส่วนจีน-เวียดนามอาจชะลอตัวค่อนข้างมากจากแรงถ่วงภาคส่งออกและอสังหาฯ คาดการลดดอกเบี้ยเกิดครึ่งหลังของปี 2567
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุน ในปี 2567 มี 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1)ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 จะอยู่ในภาวะที่แต่ละประเทศชะลอตัวไม่เหมือนกัน (Uneven slowdown) จากภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่องและค้างไว้เป็นเวลานาน (Higher for longer) ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไปจนถึงช่วงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งภาคธุรกิจที่อ่อนไหวสูงต่อดอกเบี้ย ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้าง ทั้งนี้ ประเทศที่ยังมีตลาดแรงงานและค่าจ้างเติบโต จะมีกำลังซื้อในประเทศ ช่วยทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวแบบจัดการได้ (soft landing) เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกมาก และมีปัจจัยถ่วงเฉพาะตัว เช่น การฟื้นตัวช้าของภาคอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวค่อนข้างมาก เช่น จีน และ เวียดนาม
2) ดอกเบี้ยแม้จะสูงนาน แต่ตลาดก็มีความคาดหวังจะเห็นการลดดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง (market expectation on policy rate cuts) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ โดยในส่วนของ SCB CIO มีมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3/2567 ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่า จะปรับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control :YCC) ให้เข้มงวดขี้น ในช่วงเดือน เม.ย. 2567 แล้วจึงจะยกเลิกทั้งมาตรการ YCC และนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) ในเดือนต.ค.2567 โดยธนาคารกลางกลุ่มประเทศ Emerging markets ส่วนใหญ่ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย ในปี 2567 อย่างไรก็ดี แม้ตลาดคาดหวังการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ แต่ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น หากประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้วมีแนวโน้มจะทำมาตรการการคลังขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ตลาดมีความกังวล และส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนค่าลง
3) ความเสี่ยงที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงด้าน Stagflation คือเศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง โดย SCB CIO ประเมินว่ากลุ่มประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้สูงกว่าภูมิภาคอื่น ในขณะที่ภาคธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield to Worst) ของกลุ่มหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดอยู่ในระดับ 8.6% (เทียบกับ 5.1% ในช่วงต้นปี 2563) หรือกรณี yield หุ้นกู้ไทย rating BBB อายุ 5 ปี ที่ล่าสุดอยู่ที่ 5.6% (เทียบกับ 4.2% ในช่วงต้นปี 2563)
4) ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและนโยบาย จากการเลือกตั้งในหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เพราะอาจนำมาสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ได้ โดยในปี 2567 จะมีการเลือกตั้งในไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค. อินโดนีเซีย ในวันที่ 14 ก.พ. อินเดีย ในช่วง เม.ย.-พ.ค.และ สหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. เป็นต้น ซึ่งในช่วงการหาเสียงและประกาศนโยบาย อาจมีผลทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความผันผวนจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศได้
“เราคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (interest rates peaked) ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในเงินฝาก และตลาดเงิน (money markets) ค่อนข้างมาก ฉะนั้น ในปี 2567 นี้ จึงคาดว่านักลงทุนจะมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมีมากขึ้น (increasing risk appetite) อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้เริ่มลดลงมาบ้าง รวมถึงหนี้สินในบางภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง นักลงทุนควรเน้นคัดเลือกลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง”
ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ จากข้อมูลในอดีต พบว่า หลังจากที่ Fed หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 เดือน สินทรัพย์ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ยกเว้นเพียงปี 2000 ที่เกิดวิกฤตฟองสบู่กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ส่งผลลบต่อตลาดหุ้น และตราสารหนี้ มีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงที่ Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรกด้วย แต่เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว จนนำไปสู่การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed อาจทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread) ปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ประกอบกับในปี 2567-2568 จะเริ่มมีหุ้นกู้ทยอยครบกำหนดเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงการ rollover หนี้ในกลุ่มนี้มากขึ้น ดังนั้น จึงแนะนำลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade bonds)
ส่วนการลงทุนในหุ้น เราแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ที่เป็นกลุ่ม Quality Growth มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ มีงบดุลที่แข็งแกร่ง โดยสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าสนใจ ได้แก่ เราคาดการณ์ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะเร่งตัวขึ้นในปี 2567 และความชัดเจนของนโยบายการเงินที่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยควรให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มที่ทนทานกับทุกสภาวะเศรษฐกิจ (Defensive) มากขึ้น ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น เรามองว่า ทยอยสะสมได้ เพราะผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีและคาดว่าจะมีแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนต่างๆ มากขึ้น
สำหรับ ตลาดหุ้นอินเดีย เราแนะนำทยอยลงทุน จากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในช่วงของการขยายตัว และมูลค่าหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่ตลาดหุ้นไทย มีความน่าสนใจมากขึ้น จากมูลค่าหุ้นที่คุ้มค่าขึ้น เมื่อพิจารณาในแง่ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง.