ส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 66 ทำรายได้ 1.16 ล้านล้านบาท

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ร่วมเผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 2566 ทำรายได้เข้าประเทศ 1.16 ล้านล้านบาท โตร้อยละ 4.6 คาดทั้งปีส่งออกได้ 1.55 ล้านล้านบาท ประเมินปี 67 ส่งออกแตะ 1.65 ล้านล้านบาท

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย

ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2566 ขยายตัว ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1, 2 และ 3 ของไทยในปัจจุบัน ตามลำดับ โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ

แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5

นางอนงค์ ได้ประเมินแนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 ว่า “อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่

ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทผันผวนน้อยลงและยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี 2567 เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย”

นางอนงค์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การค้าอาหารโลกและสภาวะการแข่งขันของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกเพิ่มเติมอีกว่า การค้าอาหารโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.824 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภค เงินเฟ้อที่ยังคงสูงในหลายประเทศ กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคให้อ่อนตัวลง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนของผู้ผลิต เพราะต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อาจทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาก

การลดลงของราคาอาหารโลก (ยกเว้นราคาน้ำตาล) ทำให้ประเทศผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง การขาดแคลนวัตถุดิบและการลดลงของผลผลิตการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่น ในอินเดียที่ทำให้ทางการต้องออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล รวมถึงนำเข้าสินค้าน้ำมันพืชมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภาวะสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกยังคงคุกรุ่น ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง

ในปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.47 จากร้อยละ 2.25 ในปีก่อน ในขณะที่ประเทศจีนและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกลดลงจากปีก่อน จากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารหลายรายการเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย รวมถึงสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างน้ำมันปาล์มที่มีราคาลดลง

ในปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับเช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนจีนแซงเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ขณะที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อันดับตกลง ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ยกเว้นเวียดนามที่อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับ

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่เติบโตเร็วและน่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยโปแลนด์ใช้เวลาเพียง 6 ปี ในการก้าวจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 18 ของโลก ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ของโลก (TOP 10) ซึ่งโปแลนด์ได้รับประโยชน์มากหลังจากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สินค้าที่มีศักยภาพของโปแลนด์ ได้แก่ กลุ่มปศุสัตว์ทั้งสัตว์ปีก เนื้อวัว เนื้อหมู กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและลูกกวาด ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล หัวบีท หัวหอม และกะหล่ำปลี เป็นต้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password