วงถกปลัด’คลังเอเปคเห็นพ้องไทย ‘เข้าถึงแหล่งทุน+เศรษฐกิจดิจิทัล’

คลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับปลัด’คลัง และรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค วันที่ 2 ได้ข้อสรุปภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล เผย! ที่ประชุมเห็นพ้องตามข้อเสนอจากฝ่ายไทย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารกลางเอเปค (APEC Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: FCBDM) ในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม โดยมีปลัดกระทรวงการคลังทำหน้าที่เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นสำคัญ (Priorities) ของกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Minister’s Process: APEC FMP) ไทยต้องการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน” (Advancing Digitalization, Achieving Sustainability) ได้แก่

1. การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยในส่วนของภาครัฐนั้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคมีความเห็นว่าการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางด้านการเงินและการคลัง ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP26) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

ซึ่งสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคต่างนำเสนอเครื่องมือดังกล่าว เช่น การทำประกันที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน (Green Insurance) การออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) และการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Green Taxes) เป็นต้น ในส่วนของไทยได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนยังคงเป็นทางเลือกสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสมาชิกเอเปค และในส่วนของการระดมทุนของภาคเอกชนนั้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ของตลาดทุนทั้งระบบ เพื่อให้สอดรับกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Finance Senior Officials) หารือในรายละเอียดเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในเดือนตุลาคม 2565 

 2. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ การเชื่อมโยงการชำระเงินในภาคการเงิน รวมทั้งการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ในด้านตลาดทุน เช่น Crowdfunding และ Initial Coin Offering เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเปค ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ ผู้แทนไทย ได้นำเสนอความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” เช่น โครงการเราชนะ โดยมีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นช่องทางหนึ่งในการรับวงเงินช่วยเหลือ โครงการคนละครึ่ง ที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และร้านค้ารายย่อยสามารถรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เป็นต้น การดำเนินมาตรการข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไทยเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และกระจายผลประโยชน์สู่เศรษฐกิจระดับฐานราก รวมถึงสนับสนุนการเติบโตอย่างครอบคลุมต่อไป 

ในโอกาสนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้สมาชิกเอเปคแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาการชําระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยให้เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายใต้กรอบการประชุม APEC FMP ประจําปี 2565 ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเขตเศรษฐกิจเอเปคในการส่งเสริมการเชื่อมโยงการโอนเงินหรือการชําระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งช่วยสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคต่างเห็นพ้องกับข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payment and Remittance) และเห็นว่านอกจากการส่งเสริมเครือข่ายแล้ว ควรให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัย (Cyber security) ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data privacy) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 และให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Implementation of Cebu Action Plan: CAP) จากผู้แทนกระทรวงการคลังนิวซีแลนด์ โดยแผนปฏิบัติการเซบู ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ (1) การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน (2) การเร่งรัดการปฏิรูปและเพิ่มความโปร่งใสทางการคลัง (3) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และ (4) การเร่งรัดการลงทุนและการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในปี 2564 ได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ (The New Strategy for Implementation of the Cebu Action Plan: New CAP) โดยการพัฒนาร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่อยู่บนพื้นฐานของแผนปฏิบัติการปุตราจายา ค.ศ. 2040 และการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปคหารือ ในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเอื้อให้เกิดการลงทุนและโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ของประชาชน พร้อมกันนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานด้านการเงินการคลังจะเป็นการอำนวยความสะดวก ในการเข้าถึงแหล่งทุนและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมทั้งลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปคและองค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคเอเปคให้มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมต่อไป 

อนึ่ง การประชุมภายใต้กรอบ APEC FMP ที่มีกำหนดจัดขึ้นเป็นลำดับต่อไป คือการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Finance Senior Officials’ Meeting: SFOM) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password