ยลโฉมเขตปลอดอากร eWTP – ปักหมุดส่งสินค้าไทยไปจีน

กรมศุลฯพาทัวร์ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ – eWTP Thailand Duty Free Zone ย่านบางปะกง ฉะเชิงเทรา ระบุ! ช่วยสร้างโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีน เผย! เป็นผลงานสุดคลาสสิกที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” สร้างเอาไว้ กับแผนเหยียบเมฆ “ดึงอาลีบาบากรุ๊ป” ย้ายเป้าหมายเดิมที่มาเลย์ มายังพื้นที่ EEC ของไทย

อานิสงส์จากการดำรงอยู่ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมัยยังสวมบทบาทเป็น “รองนายกรัฐมนตรี” ด้าน เศรษฐกิจ…ช่วงท้ายๆ ของ “รัฐบาลประยุทธ 1” ราวต้นปี 2561 นำมาซึ่ง…โอกาสครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ต่อภาคการผลิต ทั้งในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม (SMEs) และภาคเกษตรกรรมของไทยในอีก 4 ปีต่อมา

โดยเฉพาะกับการ “เปิดตัว” อย่างไม่เป็นทางการของ บริษัท อีดับเบิ้ลยูทีพีดิจิตอล เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด “เอกชนไทย” ที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการจัดตั้ง “เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ – eWTP Thailand Duty Free Zone” ริมถนนบางนา-ตราด อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

ได้สร้างโอกาสอย่างมหาศาลต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีน ประเทศที่มีพลเมืองราว 1.6 พันล้านคน และอาจขยายผลต่อไปยังประเทศรอบข้าง เช่น รัสเซีย ที่กำลังถูกรัฐบาลโลกตะวันตก “คว่ำบาตร” ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลต่อเนื่องจาก…ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปัจจุบัน

โอกาสที่ว่า…ถูกตอกย้ำโดย ผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร อย่าง…นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีฯ ที่ระบุชัด! เมื่อคราวพา คณะสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฯแห่งนี้

“การเกิดขึ้นของ eWTP Thailand Duty Free Zone สอดรับกับ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการส่งเสริมกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมาย…เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และเสริมประสิทธิภาพการนำเข้าให้คล่องตัวนายพันธ์ทอง ระบุ

ทั้ง “เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” และ EEC ล้วนมี “ต้นทาง” มาจากความคิดของ นายสมคิดและทีมงานของเขาฯ ที่ช่วยกันผลักดันและถักทอ จนเป็นรูปร่างมาจนถึงทุกวันนี้

และในพื้นที่ของ eWTP Thailand Duty Free Zone ยังถูกจัดสรรให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของไทย อย่าง Lazada ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กลุ่มอาลีบาบา ภายใต้การนำของ “แจ็ค หม่า” อภิมหาเศรษฐีชาวจีน

4 ใน 5 ส่วน…บนพื้นที่ราว 2 แสนตารางเมตรแห่งนี้ Lazada มีแผนจะเชื่อมต่อการค้าออนไลน์ เพื่อส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดประเทศจีน

“ทีมข่าวยุทธศาสตร์” ถึงได้เน้นย้ำว่า…สิ่งนี้ จะสร้างโอกาสอย่างอเนกอนันต์ให้กับภาคการส่งออกของไทยในอนาคตอันใกล้ และที่ต้องพาดพิงถึง นายสมคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี นั่นเพราะ…เป็นเขาและทีมงานฯ ที่สู้อุตส่าห์ส่งเทียบเชิญให้ “แจ็ค หม่า” บินลัดฟ้ามายังประเทศไทย และจัดคิวพิเศษให้ได้พบและพูดคุยในเชิงนโยบายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561

การพบกันในครั้งนั้น นำมาซึ่ง…จุดเปลี่ยน! ครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ เพราะข้อเสนอที่รัฐบาลไทยมีให้กับกลุ่มอาลีบาบา ยังผลทำให้ “แจ็ค หม่า” เปลี่ยนแผนการเดิม! จากที่เตรียมจะเข้าลงทุนในประเทศมาเลเซีย เพื่อใช้เป็นฐานการส่งออกและนำเข้าสินค้าไปยังตลาดจีนกับตลาดอาเซียน

เปลี่ยนมาเป็นประเทศไทยแทน!!!

ด้วยเหตุผลที่ “แจ็ค หม่า” ระบุไว้ เมื่อวันวาน…

“อาลีบาบา กรุ๊ป มีแผนการจะเข้าลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมบุคลากรไทยในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัล-อีคอมเมิร์ซ เนื่องจาก อาลีบาบากรุ๊ป…ได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบในระดับภูมิภาค และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค จากนโยบายไทยแลนด์  4.0 และโครงการอีอีซีของรัฐบาลที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในทิศทางการพัฒนาประเทศ”

นี่จึงนับเป็นคุณูปการสุดๆ ที่ นายสมคิดและทีมงานฯ มอบให้แก่ประเทศไทย นักธุรกิจ-อุตสาหกรรมไทย และเกษตรกรไทย

เพราะหลังจากนี้ไป…ในพื้นที่ของ eWTP Thailand Duty Free Zone จะถูกนำมาใช้รองรับ…การนำเข้า 1 ส่วนและการส่งออก 4 ส่วน

ขณะที่ ผู้บริหารของ eWTP Thailand Duty Free Zone และ Lazada เอง ต่างก็ยอมรับว่า…ภายในปลายปี 2565 นี้ การดำเนินงานของ “เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” มูลค่าการลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทแห่งนี้ จะได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการ และจะก่อประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อผู้บริโภคชาวไทย (นำเข้า) รวมถึงภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรม (SMEs) และเกษตรกรรม (ส่งออก)

ด้าน รองอธิบดีกรมศุลกากร อธิบายเพิ่มเติมว่า…สำหรับ “เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ – eWTP Thailand Duty Free Zone” นั้น กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 204/2562 ลงวันที่ 24 กันยายน 2562 รองรับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบใหม่ที่จะมีขึ้นในเขตปลอดอากรดังกล่าว

 ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้พัฒนาพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้กับเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า ระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Customs System: e-Coms) เพื่อให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากรดังกล่าว มีความสะดวกรวดเร็ว มาตรฐานสากล และลดความเสี่ยงในการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย พร้อมทั้งมั่นใจว่าการนำเข้าสินค้าจะเกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ซึ่งตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าวข้างต้น กำหนดให้เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการรับมอบ ส่งมอบ การขนย้าย การเก็บรักษา การตรวจสอบสินค้าคงเหลือ และการตรวจปล่อยสินค้าที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ ระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทคโนโลยีระบุตัวตนของสินค้า ระบบสายพานลำเลียงสินค้า เครื่องชั่งน้ำหนักอิเล็กทรอนิกส์ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์และ/หรือสิ่งของที่ผ่านเข้าออก ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน หรือระบบควบคุมอื่นใดเพิ่มเติมตามที่กรมศุลกากรกำหนด (ข้อกำหนดที่แตกต่างจากเขตปลอดอากรทั่วไป)

ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะต้องส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับของที่นำเข้าเขตปลอดอากรดังกล่าว เข้าสู่ระบบ e-Coms ของกรมศุลกากรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนยานพาหนะที่ขนส่งของจะมาถึงท่า ที่ หรือด่านศุลกากรที่นำเข้า

โดย ระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Coms) สามารถรองรับทุกประเภทการขนส่งสำหรับสินค้าที่นำเข้าเขตปลอดอากรและเมื่อมีการขนย้ายสินค้าจากระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ (e-Lock) เพื่อประโยชน์ในการควบคุมตรวจสอบได้ระหว่างการเคลื่อนย้าย และเมื่อมีสินค้าที่นำเข้าเก็บในคลังสินค้าจะมีการควบคุมด้วยระบบเอกซเรย์และเทคโนโลยีระบุตัวตนของสินค้า และเมื่อเริ่มการจัดทำบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory) แล้ว

หากพนักงานศุลกากรมีเหตุสงสัยในความไม่ถูกต้องของสินค้านั้น ๆ จะทำการตรวจสอบสินค้าทางกายภาพเพิ่มเติม

สำหรับใบขนสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่มีภาระอากร ผู้ประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ต้องชำระค่าอากร จนกว่าจะครบกำหนด 14 วันนับแต่วันที่ระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรออกเลขที่ใบขนสินค้าตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ให้สิทธิประโยชน์ไว้

“กรมศุลกากรมุ่งมั่นในการส่งเสริมการจัดตั้งเขตปลอดอากร และพัฒนาระบบศุลกากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Customs System:  e-Coms) อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ของโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา เพิ่มความเชื่อมั่น และเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่” รองอธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ

กับคำถามที่ว่า…การเกิดขึ้นของ eWTP Thailand Duty Free Zone จะส่งผลทำให้รายได้ของกรมศุลกากรลดลงหรือไม่? รองอธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า การนำเข้าสินค้าที่มีราคาต่อชิ้นต่ำกว่า 1,500 บาท ปกติก็ไม่เสียภาษีอากรขาเข้าอยู่แล้ว ดังนั้น การจะมีหรือไม่มีของ eWTP Thailand Duty Free Zone ไม่น่าจะส่งผลต่อรายได้ของกรมฯ เช่นกัน การส่งออก…ก็ไม่มีการจัดเก็บภาษี  

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ eWTP Thailand Duty Free Zone จะช่วยทำให้เอกชนสามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รองรับการขายและการจัดโปรโมชั่นได้ง่ายและสะดวกกว่า ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรไทย สามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของ Lazada เพื่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและพืชผักผลไม้ เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย มังคุด ฯลฯ ไปยังประเทศจีนที่มีกำลังซื้อและปริมาณความต้องการสูงมาก  โดยตัดพ่อค้าคนกลาง (ล้ง) ออกไป ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกรไทยได้รับประโยชน์สูงสุด

ถึงตรงนี้…นับว่าเสียดายอย่างมาก ที่ “คนต้นคิด” อย่าง…นายสมคิดและทีมงานฯ ไม่ได้อยู่สานต่อและทำในสิ่งที่พวกเขาได้รังสรรค์กันเอาไว้

เมื่อถึงวันที่การเมือง…เปลี่ยนแปลง! ไม่แน่…เราอาจได้เห็น นายสมคิดและทีมงานฯ ได้กลับมาสานต่อในสิ่งดีๆ เหล่านี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยและคนไทยต่อไป.

สุเมธ จันสุตะ…รายงาน

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password