คลังยก 5 ข้อสร้างโอกาสเศรษฐกิจไทยในปี 65

“อาคม” ฉาย 4 ปมทำรัฐไทยกังวลใจ “น้ำมันแพง – เงินเฟ้อ – โควิดฯ – ดบ.ขาขึ้น” พ่วง 5 โอกาสที่แทรกขึ้นมาในปี 2565 ชี้! ภาคการท่องเที่ยวจากนี้จะเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ มั่นใจบริหารนโยบายเศรษฐกิจท่ามกลางพิษโควิดฯ ได้แน่ คาดจีดีพีปีนี้ยังคงอยู่ที่ 4%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนาใหญ่ของ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจในโอกาสครบรอบ 44 ปี หัวข้อ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19” ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลทั่วโลกต่างบริหารนโยบายเศรษฐกิจไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาโควิดฯเหมือนกัน ปกติทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมักจะใช้เวลาแก้ไขและพลิกฟื้นได้ภายใน 2 ปี แต่กับวิกฤตโควิดฯรอบนี้ อาจใช้เวลานานกว่าเดิม อย่างไรก็ดี หากเราสามารถบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจเข้ากับพาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯได้อย่างสมดุล เชื่อว่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปได้ และจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมา

ทั้งนี้ มีประเด็นที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังรู้สึกเป็นกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาระยะสั้นในปี 2565 ได้แก่ 1.ปัญหาราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าทุกอย่างจะคลี่คลายได้เพราะไม่มีประเทศใดอยากก่อภาวะสงครามท่ามกลางปัญหาโควิดฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ นั่นคือราว 90-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล

2.ดัชนีราคาผู้บริโภค (ตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการ) ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะที่ราคาน้ำมันที่ส่งให้ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าและราคาวัตถุดิบอาหารปรับตัวสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา ในขณะที่ต่างประเทศ ปัญหาดังกล่าวจะอยู่ที่ดีมานด์ (ความต้องการ) แต่ของไทยกลับไปอยู่ที่ต้นทุนสินค้า ดังนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนด้านการขนส่งลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด้วน

พิมพ์รภัส ศิริไพวัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กล่าวรายงานการจัดงานครั้งนี้

3.ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ อย่างที่ตนได้เกริ่นในตอนต้นว่า ทุกประเทศจะต้องบริหารเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาโควิดฯ และรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่างได้ตระหนกกับปัญหาโควิดฯมากเกินไป ขณะเดียวกัน ก็จะต้องดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังด้วย

และ 4.ปัญหาอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐ (ธนาคารกลางหรือเฟด) ประกาศออกมาแล้วว่า จะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างต่อเนื่อง 5-7 ครั้งในปีนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดหุ้นของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะด้านการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้

โดยช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโควิดฯให้กับภาคธุรกิจและประชาชน นั่นทำให้ภาครัฐมีภาระรายจ่ายและต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้จ่ายในมาตรการต่างๆ ของรัฐ เป็นผลทำให้หนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วงปลายปี 2564 พบว่า มีสัดส่วนราวร้อยละ 59 ของจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินเพดานของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับเพิ่มเพดานการก่อหนี้เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่เชื่อว่าในสิ้นปี 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะก็คงไม่เกินร้อยละ 62 มากนัก 

“ในสถานการณ์โควิดฯ รัฐบาลทั่วโลกต่างเลือกใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้หลายๆ ประเทศประสบปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไทยก็เช่นกัน เราใช้มาตรการคลังมาแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ทำให้ต้องกู้เงินมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และฐานจีดีพีขยายตัวขึ้น จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงมาเอง” รมว.คลัง ระบุ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า จากการที่รัฐบาล ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคม ได้ช่วยกันอย่างเต็มที่ น่าจะทำให้จีดีพีในปี 2565 เติบโตในระดับคาดหวังไว้ นั่นคือร้อยละ 4

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ที่จีดีพีมีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ทำให้ทั้งปีมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 1.6 สูงที่กระทรวงการคลังและหลายๆ หน่วยงานคาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 1.0-1.2 ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากขยายตัวของภาคการส่งออกที่เติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 17 แม้ว่าในปีนี้อาจไม่โตเท่ากับปีก่อน แต่ก็เชื่อการส่งออกของไทยยังจะขยายตัวขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะส่งต่อไปถึงโอกาสที่จะมีในปีนี้ 

ทั้งนี้ นายอาคม เชื่อว่า โอกาสในปี 2565 จะประกอบไปด้วย 1.การผลักดันให้ภาครัฐและเอกชน (ธุรกิจ) เข้าสู่ภาวะ “ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น” หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ตามมา โดยช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ภาครัฐได้นำโมบาย แอปพลิเคชั่น มาใช้ในโครงการของรัฐ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ฯลฯ ทำให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างเรียนรู้ที่จะใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะมีส่วนสำคัญผลัดดันเศรษฐกิจของไทยให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็จะแนวทางดังกล่าว ช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกให้ได้

2.รัฐบาลพยายามส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงผลักดันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าสู่แนวทางพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์และฝุ่น PM 2.5 โดยที่กระทรวงการคลังได้นำมาตรการทางภาษีมาสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3.เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐพร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการแพทย์และสาธารณะสุข ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรการทางภาษีสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยในระยะเวลานานๆ (ลองเทอม เรสซิเดนท์) เพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามาใช้ชีวิต ทำงาน ท่องเที่ยว หรือพักรักษาตัวอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการลงทุน การท่องเที่ยว และใช้จ่ายในประเทศไทย กระทั่ง มีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

4.การเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีส่วนสำคัญต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย มาพร้อมกับการลงทุน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

5.การท่องเที่ยวของไทย เชื่อว่าจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความสำคัญของการท่องเที่ยวคุณภาพจะเข้ามาแทนที่การท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ดังนั้น หากไม่เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคนเหมือนในปี 2562 ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเราจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหมือนการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ ซึ่งนั่นก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มโอกาสของธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยุคใหม่.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password