ก.อุตฯ ห่วงการใช้น้ำช่วงหน้าแล้งแนะหลัก 1A 3R ช่วยได้

ก.อุตสาหกรรม ห่วงภาคอุตสาหกรรม อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงสั่ง กรอ.เตรียมรับมือสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ชี้หลัก 1A 3R จะช่วยบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศ ปี 2566 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนต้นเดือนมีนาคมและสิ้นสุดกลางเดือนพฤษภาคม และอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียสในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน โดยรัฐบาลวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศไว้ทั้งสิ้น 43,740 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นสนับสนุนการใช้น้ำในฤดูแล้ง 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 63 และสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน 16,055 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนขยายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กว่า 70,000 โรงงานทั่วประเทศ เนื่องจากทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้เป็นวัตถุดิบ ผสมในผลิตภัณฑ์หรือระบบสนับสนุนการผลิต เป็นตัวกลางถ่ายเทความร้อนทั้งการลดอุณหภูมิในรูปของน้ำหล่อเย็นและการเพิ่มอุณหภูมิในรูปของไอน้ำ ตลอดจนการใช้น้ำทำความสะอาดทั่วไป

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ โดยกำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว การลดปริมาณการใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงรณรงค์การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า สอดคล้องแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ ในมิติที่ 3 การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน”

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ประกาศแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงานภายใต้กำกับดูแล ให้เตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยขอความร่วมมือลดการใช้น้ำและลดการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มิถุนายน 2566 พร้อมนำแนวทางการบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลัก 1A 3R ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เพิ่มภาระการทำงาน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัยสุขภาพ

อีกทั้งลดการใช้ทรัพยากรน้ำและพลังงานการผลิต ได้แก่ 1) Avoid-หลีกเลี่ยง คือการงดใช้น้ำที่ไม่จำเป็น ลดใช้น้ำครั้งเดียวแล้วทิ้ง รวมถึงการใช้น้ำที่มีคุณภาพเกินความจำเป็น เช่น ใช้น้ำอ่อน (Soft Water หรือน้ำที่ผ่านการกรองเอาความกระด้างออกแล้ว) มาล้างทำความสะอาดพื้น เป็นต้น

2) Reduce-ลดการใช้ ควรพยายามใช้น้ำให้น้อยลงตามความจำเป็น เช่น เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก ติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดในตำแหน่งที่สะดวกต่อผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

3) Reuse-นำมาใช้ซ้ำ การนำน้ำทิ้งจากกระบวนการหนึ่งไปใช้ในกระบวนการผลิตอื่นที่ต้องการน้ำที่มีความสะอาดน้อยกว่า เพื่อให้การใช้น้ำซ้ำสามารถหมุนเวียนน้ำได้นานขึ้น โดยอาจเพิ่มการปรุงแต่งคุณภาพอย่างง่ายเข้าไป

และ 4) Recycle-หมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง เป็นการลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบได้ในปริมาณมาก เช่น การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาล้างพื้นหรือใช้ในชักโครกห้องน้ำ การนำน้ำทิ้งจากระบบ R.O. (Reverse Osmosis หรือระบบกรองน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่านขนาด 0.0001 ไมครอน) ไปใช้ในระบบน้ำหล่อเย็น การนำน้ำทิ้งจากระบบหม้อไอน้ำมาผ่านการปรับปรุงก่อนนำไปใช้ในระบบน้ำหล่อเย็น เป็นต้น

“กรอ. เน้นย้ำเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ พร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตรวจโรงงานเป็นระยะ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อลดความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมและชุมชนจากภัยแล้งให้ได้มากที่สุด” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password