ก.อุตฯ จับมือ KTR พัฒนางานด้านมาตรฐาน หนุน “อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับ Korea Testing & Research Institute (KTR) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการทดสอบและวิจัยที่ดำเนินงานร่วมกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบรับรองในด้านความปลอดภัย โดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีสีเขียว และความเป็นกลางทางคาร์บอน
ซึ่งปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (BCG) แล้ว จำนวน 757 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์และแผงโซลาร์เซลล์มือสอง ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก ฉนวนกันความร้อน ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ กระจกสะท้อนแสง ยางล้อสูบลม และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการมาตรฐานของไทยในระดับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน”
“สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 13 ของไทย โดยในปี 2567 มีมูลค่าการค้าทวิภาคี รวมกว่า 15,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 520,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.64% จากปี 2566 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย รวมทั้งยังเป็นผู้ลงทุนสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการลงทุนรวม 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,325 ล้านบาท ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมการแพทย์”
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับ KTR ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองในสาขาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีสีเขียวและความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดสัมมนาทางวิชาการ กระบวนการทดสอบ การฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานตามแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามที่คู่ภาคีมีความสนใจร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างสองหน่วยงาน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการจัดประชุมวางแผนจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านการมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรองต่อไป