ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ หลังตลาดคาดโอเปกพลัสเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิต

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 8 พ.ค. 68)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากตลาดคาดกลุ่มโอเปกพลัสอาจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะเดียวกัน เฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมถึงแม้ทรัมป์เรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสถานการณ์รัสเซียและยูเครนยังตึงเครียดหลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้เสนอแผนสันติภาพที่ชัดเจน ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงไม่แน่นอน แม้ล่าสุดจีนมีท่าทีผ่อนปรนด้วยการเตรียมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 5 พ.ค. 68 เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 68 โดยหลายฝ่ายคาดว่าอาจมีการเพิ่มการกำลังการผลิตต่อเนื่อง หลังจากที่กลุ่มโอเปกพลัสได้ประกาศเพิ่มการผลิตในเดือน พ.ค. 68 เป็น 411,000 บาร์เรลต่อวัน จากแผนเดิม 138,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากแผนการชดเชยการผลิตเกินโควตาที่อาจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดก่อนหน้า หลังการผลิตน้ำมันดิบของคาซัคสถานยังอยู่ในระดับสูง โดยรัฐมนตรีพลังงานคาซัคสถาน ระบุว่าจะมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศมากกว่ากลุ่มโอเปก

• ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ค. 68 แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กดดันให้เฟดเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแนวทางตามธนาคารกลางยุโรป เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง โดยข้อมูลจาก Fed Watch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 90% ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.25–4.50% ก่อนที่จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมช่วงเดือนมิ.ย.-ธ.ค. 68 ท่ามกลางความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ

• สถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก รมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเสนอแผนสันติภาพที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่หยุดยิงชั่วคราว 3 วันระหว่างวันที่ 8-10 พ.ค. 68 ตามที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน ได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ พร้อมเตือนว่าสหรัฐฯ อาจถอนตัวจากบทบาทคนกลางหากไร้ความคืบหน้า ด้านโฆษกรัฐบาลรัสเซียยืนยันพร้อมเจรจาโดยตรงกับยูเครน แต่ยูเครนยังไม่ตอบรับ

• สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอน แม้ว่าสำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่าจีนเตรียมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ที่เดิมเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 125% เพื่อลดแรงกดดันจากสงครามการค้า พร้อมกันนี้ จีนยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยปรับเพดานขาดดุลงบประมาณขึ้นจาก 3% เป็น 4% ของ GDP และอนุมัติวงเงินรวม 7.2 ล้านล้านหยวน สำหรับพันธบัตรพิเศษและการอุดหนุนการบริโภค เช่น รถยนต์พลังงานใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การท่องเที่ยว สวัสดิการสังคม และภาคอสังหาริมทรัพย์

• วาณิชธนกิจ (Barclays) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปี 2568 มาอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และปี 2569 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4 สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเพื่อสะท้อนถึงแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตและส่งออกจากกลุ่มโอเปกพลัส นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาอาจปรับลดไปแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หากสงครามการค้ายึดเยื้อ และกลุ่มโอเปกพลัสเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง


• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีจีดีพีไตรมาส 1/68 ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล เดือน มี.ค. 68 และการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานภาคนอกภาคการเกษตรจากเอดีพี เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน เม.ย. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน เม.ย. 68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต เดือน เม.ย. 68


สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 เม.ย. – 1 พ.ค. 68)


ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 59.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลต่อสงครามการค้าจีน–สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อหลังจากจีนปฏิเสธคำกล่าวของสหรัฐฯ ว่าการเจรจายังดำเนินอยู่

นอกจากนี้ รมว. กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เผยว่าทางออกของสงครามการค้านั้นขึ้นอยู่ประเทศจีนที่จะเริ่มเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดของสงครามการค้าหรือไม่ เนื่องจากจีนส่งออกสินค้าสู่สหรัฐฯ มากกว่าถึง 5 เท่า ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าสงครามการค้าที่ยึดเยื้อจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 2.7% ลดจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 3.0%

นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากการที่สมาชิกในกลุ่มโอเปกพลัสเรียกร้องให้มีการพิจารณาเร่งผลิตปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มเติมในเดือน มิ.ย. 68 เนื่องจากมีการปรับกำลังการผลิตเพิ่มเติม 411,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 68 ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาดูการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่าง สหรัฐฯ และอิหร่านที่จัดขึ้นในโอมาน โดยประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณความมั่นใจในการบรรลุข้อตกลงใหม่กับอิหร่าน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า อิหร่านจะยังคงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต่อการเจรจาดังกล่าว โดยหากการเจรจาสามารถบรรลุผล อาจมีผลให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบจากอิหร่านซึ่งมีการประกาศใช้ในช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 เม.ย. 68 ปรับลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 440.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.43 ล้านบาร์เรล

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password