‘พิมพ์ภัทรา’ เปิดงาน ‘THAIFEX-Anuga Asia 2024’ ดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปตลาดโลก

“สถาบันอาหาร” กระทรวงอุตสาหกรรม ดีเดย์เปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยในงาน THAIFEX ขับเคลื่อนอย่างรูปธรรม ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศขยายตลาดสินค้า-บริการฮาลาล ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล 5 ปี รมว.อุตสาหกรรมหวังอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นส่วนหนึ่งในการนำรายได้เข้าประเทศ ด้านผู้แทนการค้าไทย ชี้ช่องไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเป็นประเทศผู้นำในตลาดฮาลาลโลกได้ ขณะที่ผอ.สถาบันอาหาร หวังไทยเป็นฮับด้านฮาลาล

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ภายในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 โดยมีหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันอาหาร ร่วมงานอย่างคับคั่ง

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ภารกิจของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย คือ การขับเคลื่อนงานตามนโยบาย และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงติดตามและประเมินผล ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผ่านการขยายตลาดการค้า สินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและต่างประเทศ โดยเร่งเปิดตลาดสินค้า ฮาลาลในภูมิภาคต่างๆ ทำการประชาสัมพันธ์ จัดแสดงสินค้า จัดทำบันทึกความเข้าใจกับประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ตลอดจนแก้ไขปัญหา บูรณาการการดำเนินงาน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการฮาลาลไทย

โดยแนวทางการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในระยะแรกจะดำเนินงานภายใต้สถาบันอาหาร โดยโครงสร้างขององค์กร จะแบ่งเป็นฝ่ายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน ทั้งนี้กิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย คือ การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล รวมไปถึงส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อยากเห็นหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลเข้ามาอยู่ด้วยกันซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจขยายตลาดและเชิญชวนนักลงทุนเข้ามา และวันนี้ได้ขับเคลื่อนจนอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นสถาบันฮาลาล ภายใต้การดูแลเบื้องต้นของสถาบันอาหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยสู่ตลาดโลก ด้วยคาดหวังให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต ไม่ใช่แค่เปิดตลาดแต่ต้องขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น

เพราะวันนี้เรามีโอกาสมาก และไม่ใช่โอกาสเพียงอาหารแต่กระบวนการทั้งหมดสินค้าและบริการ ที่ฮาลาลมีโอกาสเติบโตมาก ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เคยคาดการณ์เอาไว้ปัจจุบันมีกำลังอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อยากเห็นเติบโตถึง 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพราะตลาด eec และเอเชียหรือตลาดเพื่อนบ้านและจีนยังมีโอกาสในการขยายอีกมากเพียงแต่วันนี้ศูนย์รวมในการทำกระบวนการทั้งหมด ก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในหลายกระทรวง วันนี้รวบรวมให้ผู้ประกอบการสะดวกยิ่งขึ้น มาที่สถาบันฮาลาลเป็น One Stop Service อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนต่างชาติที่มาตั้งฐานการผลิต อาหารฮาลาล ในประเทศไทย

วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือต้องปรับมาตรฐานให้ตรงกัน หลายประเทศมีมาตรฐาน ที่ไม่เหมือนกันเราจะส่งออกประเทศไหนต้องปรับให้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศนั้น โดยปัจจุบันมีหลายประเทศสนใจและยังมีโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยจะจับเอาเรื่องของอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอีกส่วนหนึ่ง ในการนำรายได้เข้าประเทศ

ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมฮาลาลไทย โอกาสและความท้าทายในตลาดโลก” (Thai Halal Industry – Opportunities and Challenges in Global Market) โดยคาดการณ์ 5 ปีข้างหน้าตลาดอาหารฮาลาลโลก จะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือมูลค่าตลาด 4.70 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 และในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าอาหารทั่วไป ด้วยปัจจัยประชากรมุสลิมโลกเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิมขยายตัว ความไม่มั่นคงทางอาหารในกลุ่มประเทศมุสลิมผลักดันให้เกิดความต้องการนำเข้าอาหารมากขึ้น และหลายประเทศให้ความสำคัญ มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ตลาดฮาลาลโลกไม่ได้ผูกขาดเฉพาะประเทศมุสลิมแต่เปิดกว้างสำหรับทุกประเทศที่มีศักยภาพ และประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการก้าวไปสู่การเป็นประเทศผู้นำ ในตลาดฮาลาลโลกได้ เนื่องจากมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สินค้า ที่มีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาล ยอดสะสมกว่า 6,400 แห่ง จำนวนกว่า 170,000 ผลิตภัณฑ์ ด้วยการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในปี 2566 มูลค่า 222,287 ล้านบาทขยายตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ย 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการบริหารจัดการในแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าฮาลาลไทยในตลาดโลก

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลว่า ช่วงปีแรกหรือปีที่ 2 จะดูแลเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการ 2 เรื่องหลัก คือการขับเคลื่อนทำตลาดต่างประเทศและบูรณาการความร่วมมือ กลุ่มฮาลาลที่มีทั้งอาหาร สิ่งทอ และ wellness และควบคุมมาตรฐานการผลิต ในอนาคตต้องการให้ศูนย์พัฒนาฮาลาลเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียนหรือฮับด้านฮาลาล โดยตั้งเป้าว่าเพิ่มผู้ประกอบการให้มากขึ้น คาดหวังว่าภายใน 5 ปีนอกจากตัว GDP และผลิตภัณฑ์การส่งออกจะเพิ่มขึ้นปีละ 1.2% แล้ว ยังหวังเรื่องการจ้างงานในกลุ่มฮาลาล product ทั้งหลายประมาณแสนกว่าคนต่อปี

โดยศูนย์ฮาลาลจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงและสมาคมต่างๆเพื่อที่จะขับเคลื่อนไปสู่การส่งออกที่เรามองว่า ผลิตภัณฑ์ในประเทศจะขยายภาพของการส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวมีโอกาสดึงนักท่องเที่ยวจากภาคตะวันออกกลางหรือประเทศที่เป็นมุสลิมเข้ามา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรมสถานที่ท่องเที่ยวจะเกี่ยวข้องกับวิถีการบริโภคอาหาร และ wellness เป็นส่วนยกระดับอุตสาหกรรมมาตรฐาน เพื่อเสริมความมั่นใจในอนาคต

ดร.ศุภวรรณ กล่าวอีกว่า ภายในงานเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้มีการสาธิต ประกอบอาหารไทยฮาลาลในเมนู “แกงมัสมั่นเนื้อโรตี” โดย เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนทำอาหารและเชฟแห่งภัตตาคารบลู เอเลเฟ่นท์ และพบกับเชฟชื่อดังที่จะมารังสรรค์หลากหลายเมนูฮาลาลให้ได้ชิมตลอด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2567 อาทิ เชฟยาคุป-ธฤต ตั้งทรงศิริศักดิ์, เชฟอหมัด- ภิเชฐ หนูพุฒ, เชฟนุ้ย-รัศมี จำปาดะ กับเมนูสุดพิเศษจากสินค้าฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จพร้อมส่งออก อาทิ โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน, กรือโป๊ะ ข้าวเกรียบปลา เมืองนราธิวาส ตรา Befish และท่าทองรังนก.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password