รมว.อุตสาหกรรม สวน พรรคฝ่ายค้าน ยันทำเต็มที่แผนจัดการปัญหา ‘วินโพรเสส’

‘พิมพ์ภัทรา’ตอบกระทู้สด‘สส.ก้าวไกล’ แจงแผนรับมือปัญหาจัดการกากอุตสาหกรรม‘วินโพรเสส’ ยันทำเต็มที่ ไม่ได้ประวิงเวลาของบกลาง พร้อมเรียกประชุมผู้บริหาร สั่งการปลัดอุตฯ-อธิบดีกรมโรงงานฯทำข้อมูลให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอ ครม. เพราะนายกฯ ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนมาก

วันที่ 18 ก.ค.2567 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล (กก.) ถามนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องปัญหากากอุตสาหกรรม โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง

นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้ไล่เลียงไทม์ไลน์ของการจัดการกรณี เพลิงไหม้โรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริษัทวิน โพรเสส จัดตั้งโรงงานเมื่อปี 2560 และในปีถัดมาคือปี 2561 พบว่าการประกอบกิจการมีปัญหา จึงตั้งคณะทำงานไตรภาคีในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย จนเข้าสู่กระบวนการทางศาลในปี 2564 และมีคำพิพากษาให้บริษัทมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ต่อมาในปี 2567 ตนได้สั่งการให้เร่งรัดติดตามความคืบหน้าการรายงานเหตุฉุกเฉิน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาทรัพยากร งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน กระทั่งมาเกิดเหตุเพลิงไหม้พื้นที่ในบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้และผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเร่งเยียวยา ช่วยเหลือประชาชนโดยรอบ โดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27 เมษายน และกำชับให้แก้ปัญหาโดยเร็ว และไม่เฉพาะที่บริษัทวินโพรเสส เท่านั้น แต่ท่านได้กำชับให้ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับการกำจัดของเสียภายใต้คำสั่งศาล เราได้ใช้เงิน 4.9 ล้านบาท เพื่อทำการว่าจ้างผู้รับดำเนินการที่มีความสามารถในการกำจัดบำบัดของเสียที่เป็นวัตถุอันตรายอย่างเร่งด่วน โดยศาลจังหวัดระยอง พิเคราะห์แล้วเห็นควรโอนเงินให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการจ้างเหมาบริการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายตามแผนการบำบัดของเสียของบริษัท วินโพรเสส ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมแถลงต่อศาล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเบิกจ่ายเงิน นอกจากนี้ยังได้เสนอของบประมาณเพื่อจัดการของเสียที่ถูกลักลอบทิ้งและจัดการไม่ถูกต้องโดยเสนอขอไป 90 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบมาแค่ 32 ล้านบาท ซึ่งยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณางบประมาณต่อไป

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเสียทั้งสองบ่อ โดยมีการเสริมคันดินเพิ่มความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องทำควบคู่กันไปกับการจัดการของเสียด้วย เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนไปยังบ่อน้ำได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นายก อบจ. นายก อบต.บางบุตร ที่ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านในชุมชนรับทราบ เพื่อคลายความกังวล

ส่วนการขนย้ายอลูมิเนียมดอสที่ไม่สามารถขนย้ายออกไปนอกพื้นที่ได้เนื่องจากถูกคัดค้าน ก็ได้นำมาใส่ถุงบิ๊กแบ็กไว้อย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้อ่อนไหวต่อการเกิดเหตุอีก อย่างไรก็ตาม ตัวอลูมิเนียมดอสก็ไม่ใช่ต้นเหตุทั้งหมด เพราะมีปริมาณของเสียถึง 33,000 ตัน ประกอบด้วยสารเคมี 9 รายการ ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เร่งหาข้อมูลและคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในรวบรวมพอสมควร

รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวถึง แนวทางการจัดการของบกลาง ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ได้ประวิงเวลา แต่ต้องตรวจสอบปริมาณของเสียที่ชัดเจน โดยตลอดระยะเวลา 2 เดือน ตนได้เรียกประชุมผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อสอบถามถึงแผนการดำเนินงานและกำชับให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และให้มีการปรับปรุงรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอของบกลางต่อ ครม. เพราะนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและสอบถามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password