‘คลัง – ธปท.’ ถกไม่คืบ! ลด ดบ.ลุ้นกลาง ต.ค.นี้ – ส่วนปม ‘เงินเฟ้อ-บาทแข็ง’ ยกยอดหารือรอบหน้า?

“รองนายกฯและรมว.คลัง” ยกปมหารือ “กรอบเงินเฟ้อและเงินบาทแข็งค่า” ร่วมกับ “ผู้ว่าฯธปท.” ไปรอบหน้า ส่วนแนวคิดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังต้องลุ้นผลประชุม กนง. กลางเดือน ต.ค.นี้ ส่นรอบนี้ทำได้แค่หารือถึงทางลดปัญหาหนี้ครัวเรือน วอน ธปท. เจรจาสถาบันการเงิน แก้หนี้ของรายย่อย ยืนยันไม่ใช่การ “แฮร์คัต” ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อย หวังแค่เข้าได้ถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น

กลายเป็นที่จับตามองอย่างมาก ภายหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเปิดตัว โครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานฯ ว่า เวทีนี้ นายพิชัย จะได้หารือร่วมกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ถึงมุมมองและทิศทางเศรษฐกิจที่ กระทรวงการคลังและธปท. ยังเห็นไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น…ค่าเงินบาท กรอบอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ตนได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. โดย กระทรวงการคลังยังคงยืนยันเกี่ยวกับนโยบายการลดดอกเบี้ย แม้จะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งการหารือมีการแลกเปลี่ยนความเห็น โดยเฉพาะกรณีที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และ ธนาคารกลางยุโรป ได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ขณะที่ ทางการจีนเอง ก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากปัจจัยข้างต้น ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลข้างต้น เชื่อว่า กนง. จะนำไปพิจารณา เพราะหากลดดอกเบี้ยลงมาได้จะส่งผลดีต่อคนกู้ใหม่ ส่วนตัวยอมรับว่า การลดดอกเบี้ยอาจไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากนัก และไม่ได้กระตุ้นการส่งออกในเชิงปริมาณมากเท่าใด โดยปกติในช่วงปลายปีจะมียอดส่งออกขยับตัวดีขึ้น ขณะที่ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะรับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี แต่สิ่งสำคัญที่สุด ภาครัฐจำเป็นจะต้องดูแลด้านสภาพคล่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอี สามารถจะเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในเวลานี้” นายพิชัย ย้ำและว่า

ตนยังได้หารือกับ ผู้ว่า ธปท. ถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี แม้ว่านโยบายของรัฐบาล ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จะดำเนินการช่วยเหลือไปแล้วบางส่วน แต่ยังคงมีลูกหนี้ในส่วน Non Bank และสถาบันการเงินอื่นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น หาก ธปท.นำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาและช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ก็จะสร้างโอกาสให้กับกลุ่มที่มีศักยภาพได้เข้าถึงโอกาสในการกูเงิน นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เนื่องจากเป็นกลุ่มรายย่อย ยอดเงินกู้ไม่สูงมากนัก แต่มีจำนวนสูงถึง 7-8 แสนบัญชี ต่างจากปัญหาหนี้ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่ปัญหาหนี้อยู่เฉพาะในกลุ่มเอกชนรายใหญ่ ที่มีมูลหนี้ต่อรายเป็นจำนวนมาก แต่จำนวนบัญชีมีไม่มากนัก

ทั้งนี้ การขอให้ ธปท.และสถาบันการเงิน รวมถึง Non Bank ได้พิจารณาถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ของรายย่อย ไม่ใช่การ “แฮร์คัทหนี้” แต่เป็นการลดหย่อนผ่อนปรนหนี้ เพื่อให้รายย่อยเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ 2 หน่วยงาน (กระทรวงการคลัง และธปท.) จะต้องร่วมมือแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องกรอบเงินเฟ้อและค่าเงินบาท คงได้นัดหารือเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password