‘บอร์ด PPP’ หนุนโครงการดันไทยสู่ศูนย์กลางการบิน – เผย! แผน PPP ถึงปี’70 มี 138 โปรเจ็กต์ เฉียด 1 ลล.

รองฯพิชัย นำถกคณะกรรมการ PPP ก่อนเห็นชอบโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการกว่า 14,500 ล้านบาท สนับสนุนเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค เผย! แผนยุทธศาสตร์ร่วมทุน PPP ช่วงปี 2563 – 2570 มากถึง 138 โครงการ มูลค่า 9.18 แสนล้านบาท

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็น ประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 โดยสรุปผลการประชุมได้ ดังนี้

คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบหลักการโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของผู้ประกอบการรายที่ 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) โดยเปิดให้ เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าโครงการรวม 14,498 ล้านบาท ซึ่ง เอกชนจะรับผิดชอบการจัดหาเงินทุน การออกแบบและก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการให้บริการ ตลอดจนรับผิดชอบในการดูแลบำรุงรักษา และบูรณะสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ ขณะที่ ทอท. จะกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบคุณภาพการดำเนินงานของภาคเอกชน และได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายปี

ทั้งนี้ โครงการมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 5 ที่มุ่งให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค โดย โครงการจะช่วยรองรับการเติบโตของปริมาณจราจรทางอากาศในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถสนับสนุนเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (แผนร่วมลงทุนฯ) เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน โดยมี รายการโครงการที่ประสงค์จะดำเนินการในรูปแบบ PPP รวม 138 โครงการ มูลค่ารวม 9.18 แสนล้านบาท ซึ่ง มูลค่ารวมมีการปรับลดลงจากแผนร่วมลงทุนฯ ฉบับก่อนหน้า เนื่องจากมีโครงการร่วมลงทุนที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง

ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนฯข้างต้น จะเป็นกรอบทิศทางการจัดทำโครงการ PPP ของประเทศที่ชัดเจน และจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น  อีกทั้ง คณะกรรมการ PPP ยังได้เร่งรัดโครงการร่วมลงทุนต่างๆ ให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้สะดวกและรวดเร็ว มากขึ้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password