สศอ. เผย ศก. ไทยเริ่มฟื้น ดันดัชนี MPI ก.ค. ขยายตัว

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 96.74 ขยายตัวร้อยละ 1.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับมาสู่ภาวะปกติ และเทศกาล การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและภาคการท่องเที่ยวขยายตัว

นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 96.74 ขยายตัวร้อยละ 1.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.84 โดยสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 10.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับมาสู่ภาวะปกติ รวมถึงเทศกาลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม เป็นต้น

การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2567 ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.69 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.48 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.05 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย ผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้านำเข้ามากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่า

ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนสิงหาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้ากับจีน

“เศรษฐกิจโลกแสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และการท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 36 ล้านคนในปีหน้า รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การอุปโภคบริโภคและ การลงทุนภาครัฐเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยกดดันอื่น ๆ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าของบางประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรปที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะและภาระด้านสิ่งแวดล้อม การนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ล้นตลาดซึ่งกดดันการแข่งขันในประเทศ อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในประเทศและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานและค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อวางแผนและปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปีข้างหน้า” นายกฤศ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.29 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ผลิตเน้นส่งออกไปอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศและค่าเงินบาทอ่อนตัว

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.70 จากผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และยางผสม เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป อินเดีย และจีน รวมถึงมีสต๊อกน้ำยางอยู่จำนวนมากจึงเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.91 จากผลิตภัณฑ์ครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณภูมิสูงขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อเข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.11 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.96 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.02 จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดโอนบ้านใหม่ลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password