เลขาฯ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ภาพวงจรปิดชั้น 14 ตรวจสอบ “ทักษิณ” ชี้ “อุ๊งอิ๊ง” โอนหุ้นหลังโปรดเกล้าฯได้
เลขาฯ ป.ป.ช. เผยยังไม่ได้ภาพวงจรปิดชั้น 14 ตรวจสอบอาการป่วย “ทักษิณ” ไม่รับปากเชิญ “เสรีพิศุทธ์” เป็นพยานเข้าเยี่ยม “ทักษิณ” ส่วน “นายกฯ อิ๊งค์” โอนหุ้นหลายบริษัทหลังโปรดเกล้าฯ ทำได้
วันที่ 30 ส.ค.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. ตรวจสอบไปมากแล้ว ซึ่งมีข้อมูลมาพอสมควร เดี๋ยวจะมีการสรุปว่ามีมูลในการไต่สวนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหลักฐานภาพวรจรปิดในชั้น 14 นั้น ทาง ป.ป.ช. ได้ขอไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจอยู่ตลอด
เมื่อถามว่า การขอไปแล้วแต่หน่วยงานไม่ได้ให้ภาพมาถือว่าผิดปกติหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่า มีภาพกล้องวงจรปิดหรือไม่ หากมีแล้วใช้ได้หรือไม่ รวมถึงได้ขอข้อมูลเวชระเบียนของนายทักษิณ และข้อมูลอื่นๆ ไปอีกหลายเรื่อง แต่ยังได้มาไม่ครบ
เมื่อถามว่า การที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่ให้เอกสารมา ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของ ป.ป.ช. หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบ หากไม่ได้รับความร่วมมือ ป.ป.ช. ก็มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบถึงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ให้ มีข้อเท็จจริงอย่างไร ซึ่งตามหลักการหน่วยงานนั้นต้องชี้แจง เป็นไปตามระเบียบการทำงานของหน่วยงาน
เมื่อถามถึง กรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เปิดเผยรายละเอียดถึงการไปเยี่ยมนายทักษิณที่ชั้น 14 จำเป็นต้องเชิญมาเป็นพยานหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ต้องดูว่าการจะเชิญนั้น จะสอบถามในเรื่องอะไร และมีความจำเป็นจะต้องเชิญมาหรือไม่ ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่พิจารณา เรื่องนี้ตนเองยังไม่สามารถตอบได้ ส่วนประเด็นที่ คปท. เคยร้องขอให้ ป.ป.ช. เชิญ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มาเป็นพยานนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิจารณาว่า มีความจำเป็นหรือไม่ การเชิญมาให้ข้อมูลนั้นมีน้ำหนักหรือไม่ ไม่เช่นนั้นทุกคนบอกว่าให้เชิญใครมาก็ต้องเชิญมาหมด ต้องพิจารณาน้ำหนักและข้อเท็จจริงที่เพียงพอ เพราะหากมีการฟ้องร้องทางคดี จะต้องนำไปเป็นพยานและหลักฐานด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลสอบของกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ที่พบว่านายทักษิณ ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ที่มีการส่งเรื่องต่อให้กับ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย กล่าวว่า ได้รับข้อเสนอของ กสม. แล้ว ซึ่งจะนำมาพิจารณาเป็นความเห็นประกอบ เป็นไปตามหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรอบเวลาในการดำเนินงานสอบสวนเรื่องนี้จะใช้เวลาเท่าไหร่นั้น นายนิวัติไชย ไม่ระบุชัด บอกเพียงว่า ต้องดูข้อเท็จจริงที่ได้รับว่าได้ข้อมูลครบถ้วนหรือไม่
เมื่อถามว่ากรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นบริษัทต่างๆ มีคนไปร้องบ้างหรือยัง นายนิวัติไชย ระบุว่า ยังไม่มีใครร้องมา โดยเรื่องนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะทำการตรวจสอบหรือไม่ เช่น มีการกระทำผิดต่อตำแหน่ง ฝ่าฝืนจริยธรรม หรือครอบครองหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย การเซ็นโอนหุ้นของผู้ที่ได้รับตำแหน่งทางการเมือง สามารถทำได้หลังถวายสัตย์ปฏิญาณตนภายใน 15 วันก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องโอนหุ้นก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หุ้น ซึ่งการถือครองหุ้น หลังจากดำรงตำแหน่งแล้ว ก็ยังสามารถถือครองได้ไม่เกิน 5% ถ้าเกินจากนั้นต้องดำเนินการให้นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ
เมื่อถามย้ำว่าดำเนินการเซ็นโอนหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในการโอนหุ้น หากดำเนินการในช่วงนี้ ถือว่ายังอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย บอกว่า อันนี้ต้องไปพิจารณา.