สรรพสามิตชี้! ‘ดื่มยาดองตาย!’ เหตุผสมเมทานอล – เตือน! เลี่ยงดื่ม ‘Lกฮ.’ ไร้แหล่งที่มา ไม่ติดแสตมป์

กรมสรรพสามิตชี้แจงกรณี “ผู้เสียชีวิต-ผู้ป่วย” หลังจากดื่มสุรามีสารพิษ เผย! จากการตรวจสอบพบเหล้ายาดองมีส่วนผสมของสุราเถื่อน (เมทานอล) เตือน! ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่รู้แหล่งที่มาและไม่ติดแสตมป์สรรพสามิต ประกาศเดินหน้าขยายผลจับกุมปิดซุ้มยาดองผิดกฎหมาย รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตอย่างเคร่งครัด

ตามที่ ปรากฏข่าวทางสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีประชาชนดื่มสุราที่มีสารพิษ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 27 ราย หลังดื่มสุราที่ซุ้มยาดอง บริเวณถนนหทัยราษฎร์ ในพื้นที่เขตคลองสามวาต่อเนื่องเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร และบริเวณใกล้เคียนั้น ดร.นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะ โฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยอาการ Methanol intoxication จำนวน 27 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีและโรงพยาบาลใกล้เคียง ทั้งหมดมีประวัติดื่มสุราจากซุ้มยาดอง โดยทุกรายมีอาการเวียนศีรษะ ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นผิดปกติ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และภาวะเลือดเป็นกรด โดยบางรายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

โดยเมื่อวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ได้บูรณาการกับ

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มีนบุรี ร่วมกันสืบสวนจนทราบว่า ซุ้มยาดองดังกล่าวได้สั่งซื้อน้ำสุราจากบ้านหลังหนึ่งในเขตสะพานสูง จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ พบอุปกรณ์และส่วนผสมที่ใช้ผลิตสุราผิดกฎหมายจำนวนมาก อาทิ เอทานอล ถังผสมน้ำสุรา ถุงสำหรับบรรจุสุรา และแกลลอนเปล่า เป็นต้น

จากการตรวจวิเคราะห์สุราของกลาง โดยห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกรมสรรพสามิต พบว่า   น้ำสุรามีเมทานอล และสารไอโซไพรพิล แอลกอฮอล์  (Isopropyl alcohol : IPA) เจือปน โดยผู้ต้องหาให้การว่า ได้ผลิตสุราผิดกฎหมายก่อนนำไปขายต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิตสุรายาดอง เจ้าหน้าที่สรรพสามิตฯ จึงแจ้งข้อหาร่วมกันผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่ผลิตขึ้นตามมาตรา 153 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ก่อนนำตัวพร้อมของกลางไปยัง สน.บางชัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการสอบสวนยังพบอีกว่า ผู้ผลิตสุราเถื่อนรายดังกล่าวได้มีการส่งขายร้านยาดองในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 18 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เร่งเข้าดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายสรรพสามิตต่อไป สำหรับผู้ที่มีประวัติดื่มสุราเถื่อนในบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ขอให้สังเกตอาการ หากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยทันที

ดร. นิตยา กล่าวอีกว่า ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตกวดขันไม่ให้มีการขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผลิตสุราที่ไม่ได้มาตรฐานอันส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งการ เปิดซุ้มยาดองเพื่อจำหน่ายสุรา ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายใน 2 ข้อหา คือ 1. ความผิดฐานขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 155 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท  2. ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงน้ำสุรา โดยนำน้ำ ของเหลว หรือวัตถุอื่นใด เจือปนลงในสุราเพื่อการค้า ตามมาตรา 158 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

นอกจากนี้ กรณีครอบครองเครื่องกลั่นสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 153 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขายสุราเถื่อนดังกล่าวจะมีโทษปรับ ตามมาตรา 191 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อเองก็มีความผิดด้วย ตามมาตรา 192 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 – กรกฎาคม 2567 กรมสรรพสามิตเดินหน้าปราบปรามคดีซุ้มยาดอง

ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 284 คดี จับน้ำสุราของกลางได้ 1,231.34 ลิตร ปรับเงินกว่า 3.14 ล้านบาท

“กรมสรรพสามิตขอย้ำเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคและซื้อสุราที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิต เพราะอาจมีสารอื่นปะปน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิต” โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวและว่า กรมสรรพสามิตภายใต้การขับเคลื่อนของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย ทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกองค์กร เพื่อดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนไม่ให้บริโภคสินค้าปลอมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ EASE Excise ของกรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

สำหรับประชาชนท่านใดที่พบการกระทำผิดกฎหมาย สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศหรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password