ศุลกากรเข้ม! ตรวจจับยึด ‘บุหรี่ไฟฟ้าจีนใช้แล้วทิ้ง’ สำแดงเท็จ 1.28 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล.
ด่านศุลกากรมุกดาหาร ผนึก สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และ กองสืบสวนและปราบปราม จับบุหรี่ไฟฟ้านำเข้าล๊อตใหญ่ จำนวน 128,130 ชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ได้ที่ จ.มุกดาหาร พบจุดผิดสังเกต หลังบรรทุกสินค้าเกินกว่าที่สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า นำสู่การจับกุมและขยายผลต่อไป
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนกำลังนิยมใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายมีการดัดแปลงรูปลักษณ์ภายนอกของบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความน่าสนใจหรือผสมยาเสพติดประเภทอื่นเข้าไปในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชน และประชาชนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพของประชาชนที่เกิดจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กรมศุลกากร โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด ด้วยการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า
โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร โดย ด่านศุลกากรมุกดาหาร ร่วมกับสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 และ กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกันตรวจสอบตู้สินค้าที่มีต้นทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเข้มงวดตามนโยบายอธิบดี ทั้งนี้ ขณะปฏิบัติหน้าที่ พบตู้สินค้าที่มีการบรรทุกสินค้าเกินกว่าที่สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า จึงทำการเข้าตรวจค้นสินค้า ผลการตรวจค้น พบสินค้าที่ไม่ได้สำแดงตามใบขนสินค้าและเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้า คือ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง จำนวน 128,130 ชิ้น มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
กรณีนี้ ถือเป็นความผิดฐาน สำแดงข้อมูลไม่ถูกต้อง/ครบถ้วน หลีกเลี่ยงอากร และหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 243 244 และ 252 และเป็นของที่พึงต้องริบตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นภัยต่อสังคม
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หน่วยงานในกรมศุลกากรยังมีการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการลักลอบนำเข้าทั่วประเทศ อาทิ กองสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรในสังกัดของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 เช่น ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรนครพนม ด่านศุลกากรแม่สาย ด่านศุลกากรชุมพร ด่านศุลกากรสงขลา เป็นต้น
สำหรับสถิติในการจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์เข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 25 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 343 คดี ปริมาณกว่า 1.2 ล้านชิ้น มูลค่า 92,008,066 บาท.