สตง.ดึง ป.ป.ง ร่วมขจัดกลโกงเงินหลวง ชี้! แก๊งโกงกลัวถูกยึดเงิน แฉ! เล่ห์ท้องถิ่น ‘เขียนเช็คล่วงหน้า’
สตง. แก้เผ็ด “แก๊งโกงเงินแผ่นดิน” ดึง “กลุ่ม 4 ส.” ร่วมตรวจสอบจัดซื้อจัดงานภาครัฐไปพร้อมกัน ชี้! ไม่เพียงเร่งเวลาเอาผิดได้เร็วและลงลึกมากขึ้น แต่ยังช่วยขจัดกลโกงได้กว้างไกล เผย! การดึงเอา ป.ป.ง. มาร่วมสอบ สร้างความหลอนให้แก๊งทุจริตเงินหลวงได้รุนแรง เหตุเพราะสั่งหยุดได้ทุกธุรกรรม ไม่เว้นทางการเงิน ช็อก! หน่วยงานท้องถิ่น เขียนเช็คเบิกจ่ายล่วงหน้า สร้างความเสียหายแก่ภาครัฐจำนวนมาก
ภายหลังจากที่ “โฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นำแถลงข่าวการตรวจสอบ “หน่วยรับตรวจ” ตามที่ได้สรุปภาพรวมรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 กระทั่ง สามารถปกป้องเงินแผ่นดินจากปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น ต่อเนื่องกันไป ยังได้สรุปผลการตรวจสอบในโครงการสำคัญๆ และอยู่ในความสนใจของสังคมไทย ดังนี้
โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง จำนวน 3 สัญญา ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 กรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ สส.23/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,994.400 ล้านบาท (โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอน 1) ตอน 2 ตามสัญญาเลขที่ สส.21/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 3,991.986 ล้านบาท และ ตอน 3 ตามสัญญาเลขที่ สส.22/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 วงเงินตามสัญญา 2,491.000 ล้านบาท รวมมูลค่าตามสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้น 10,477.386 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่างานก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567
โฆษก สตง. กล่าวว่า แม้เบื้องต้นจะไม่พบความผิดปกติในเรื่องการทุจริต แต่จากปัญหาความล่าในการก่อสร้าง เข้าข่ายการบริหารสัญญาอาจไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือขาดประสิทธิภาพ จึงต้องเร่งรัดการก่อสร้าง โดยวันนี้ (5 ส.ค.2567) สตง.จะออกหนังสือให้ กรมทางหลวงเร่งเจรจากับการทางพิเศษฯ เพื่อให้เร่งรัดการก่อสร้างจากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จใน 8 เดือน เหลือ 5 เดือนหรืออาจน้อยกว่านั้น เพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่างโครงการของทั้ง 2 หน่วยงานทำได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางทางพระราม 2 ขาออกไปยังเส้นทางหมายเลข 9 มุ่งหน้าไปยังถนนบางนา
“สาเหตุที่เราไม่ทำเรื่องส่งไปให้การทางพิเศษฯโดยตรง เพราะกรมทางหลวงคือ “หน่วยรับตรวจ” ของ สตง. จึงต้องให้ทางกรมทางหลวงไปเจรจากับการทางพิเศษฯเอง” โฆษก สตง. ระบุ
สำหรับ โครงการที่มีวงเงินสูงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่ง คณะรัฐมนตรีได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสู่ความเข้มแข็งและสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจ BCG ของ ม.ราชภัฏอุดรธานี วงเงินจำนวน 1,790 ล้านบาท กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย นครพนม สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ โดยคัดเลือกกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จำนวน 2,400 กลุ่มๆ ละ 10 คน รวม 24,000 คน และมีกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ 6 หลักสูตร คือ 1.การผลิตอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้องจากวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนฯ 77,600,000 บาท (สุ่มตรวจสอบ), 2.การเลี้ยงปลาดุกและปลาหมอบ่อ ด้วยอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น 58,400,000 บาท, 3.การเลี้ยงหอยในบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง 88,000,000 บาท, 4.การเลี้ยงกบบ่อ และการแปรรูปที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง 86,400,000 บาท, 5.ระบบการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบปลอดภัยในโรงเรือนอัจฉริยะ 99,600,000 บาท (สุ่มตรวจสอบ) และ 6.การเลี้ยงด้วงมะพร้าว และกระบวนการสกัดน้ำมันด้วงมะพร้าวเพื่อการค้า 64,400,000 บาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีความโปร่งใส มีการกำหนดราคาสูงเกินความเป็นตลาดมากกว่าราคาตลาดถึง 10 เท่า บางรายงานมีการจัดซื้อแต่ได้ของที่ไม่เหมาะสมสอดรับกับโครงการ หรือบางครั้งไม่มีการส่งมอบสินค้าด้วยซ้ำ เฉพาะการสุ่มตรวจในบางโครงการพบว่ามีความเสียหายรวมราว 102 ล้านบาท
นอกจากนี้ สตง.ยังได้ตรวจสอบกรณีเพจดังนำเสนอข่าวประเด็นปัญหาการก่อสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ จ.หนองบัวลำภู เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกระจายสินค้าเกษตรคุณภาพ สร้างทักษะการเรียนรู้ด้านการตลาดให้แก่นักเรียน เกษตรกร และประชาชนในชุมชน วงเงินตามสัญญา 11.81 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และตรวจรับงานจ้างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 พบว่า การก่อสร้างไม่ได้มีการขออนุญาตก่อสร้าง และการก่อสร้างไม่ตรงตามเกณฑ์ของสำนักผังเมือง เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารเชิงพาณิชย์ สรุปการดำเนินงานคือ 1.ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินโครงการ, 2.ไม่มีการใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงการ, 3.การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา, 4.สิ่งปลูกสร้างในโครงการมีความชำรุดบกพร่อง
อีกทั้ง ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวคือ มีการเซ็นเช็คล่วงหน้า โดยไม่ระบุชื่อผู้รับและไม่มีการขีดคร่อม ทั้งที่เป็นเช็คของรัฐบาล และธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่เองก็น่าจะรู้ว่ามันผิดไปจากระเบียบราชการ แถมเช็คบางฉบับ พบว่าคนเซ็นต์เช็คเป็นคนเดียวกับผู้รับเงิน ซึ่งมันสะท้อนว่ามีการเขียนเช็คล่วงหน้า ซึ่งจากการตรวจสอบเช็คของรัฐกว่า 120 ฉบับพบว่ามีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 22 ล้านบาท
“คนเขียนเช็คเบิกจ่ายส่วนใหญ่เป็นแค่เจ้าหน้าที่ แต่หากคนมีอำนาจลงนามเซ็นต์เช็คล่วงหน้าโดยไม่กำหนดวงเงิน ก็จะเกิดความเสียหายและนำมาสู่การดำเนินคดีในอนาคตได้ ดังนั้น คนมีอำนาจและหน้าที่เซ็นต์เช็ค ไม่ควรเซ็นต์ล่วงหน้า แต่ควรจะเซ็นต์เฉพาะรายการที่จะต้องจ่าย ณ ขณะนั้น” โฆษก สตง. กล่าวเตือนและย้ำว่า…
ความร่วมมือกับ “กลุ่ม 4 ป.” (สำนักงาน ป.ป.ช., ,ป.ป.ท. , ป.ป.ง. และ ตำรวจ บก.ปปป.) ก่อนหน้านี้ จะทำให้การตรวจสอบปัญหาทุจิตคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สามารถดำเนินการได้พร้อมกันทุกหน่วยงานและทำได้อย่างลงลึก โดยแต่ละหน่วยงานจะดำเนินการตรวจสอบตามภารกิจของตัวเอง โดยประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ใน “กลุ่ม 4 ป. + สตง.” ซึ่ง การทำหน้าที่ของ ป.ป.ง. จะทำให้ผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยจำเป็นต้องหยุดในทุกธุรกรรมที่กำลังดำเนินการ แม้กระทั่ง ธุรกรรมทางการเงิน
ทั้งนี้ การประสานงานร่วมกันข้างต้น ไม่เพียงจะช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการเอาผิดกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวนานหลายปี เหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนจะส่งต่อให้กับ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการต่อ แต่ยังทำให้ขบวนการฉ้อโกงเงินงบประมาณแผ่นดิน อาจต้องหยุดชะงักและถูกดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้งบประมาณแผ่นดินไม่เกิดความเสียหาย
“ขณะนี้ ผู้ว่าการฯสตง.ได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในทุกระดับ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีมูลค่าการก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง และเป็นการทำงานร่วมกับ “กลุ่ม 4 ส.” โดยเฉพาะ ป.ป.ง. ซึ่งนี้จะเป็นกรณีศึกษาและเป็นเคสท์ตัวอย่างให้คนที่กำลังทุจริตงบประมาณแผ่นดินได้ตระหนักว่า การฉ้อโกงเงินแผ่นดินนั้น ไม่เพียงจะผิดข้อกฎหมายทั้งอาญาและวินัย แต่ยังรวมถึงการอาจถูกยึดทรัพย์ที่ทุจริตไปด้วย” โฆษก สตง. กล่าวสรุป.