คลังชู ‘สรรพสามิต’ ขึ้นแท่น ‘หัวหอก’ นำสร้างเศรษฐกิจสีเขียว
“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” พร้อมสนับสนุนกรมสรรพสามิตสู่ความเป็น “หัวหอก” สร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้กับระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในประเทศไทย สอดรับกับกระแส ESG ของโลก ยอมรับเหตุฉุดรายได้ของกรมฯหดตัวเป็นผลจากนโยบายรัฐ ทำรายได้ภาษีน้ำมันและรถยนต์หายไปเพียบ ลุ้นให้ สศค.ปรับลดประมาณจัดเก็บรายได้สะท้อนภารกิจเพื่อชาติ มั่นใจอนาคตรายได้ภาษีสรรพาสามิตทะยานแน่! ด้าน “เอกนิติ” ประกาศนำกลยุทธ์ EASE Excise ยกระดับการทำงานทั้งระบบ หนุนยุทธศาสตร์ ESG สร้างมาตรฐานสากล พร้อมเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวตอนหนึ่ง ภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต ว่า ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ โดยให้ดูแลในเรื่องสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตนคาดหวังจะให้กรมสรรพสามิตเป็น “หัวหอก” ในการกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย
นายจุลพันธ์ ย้ำว่า รัฐบาลต้องการเดินหน้าขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียน โดยมาตรการระยะสั้นจะเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่วนระยะกลางจะเน้นที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งการที่กรมสรรพสามิตได้เดินหน้าสู่บทบาทใหม่ ในการดำเนินนโยบายและมาตรการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) นั้น นอกจากจะเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทโลกแล้ว ยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเป็นการช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไปในอนาคต และยังเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่กรมสรรพสามิตได้นำเสนอนั้น จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
“ผมได้มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิตเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต เดินหน้ามาตรการและนโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นโยบายที่กรมสรรพสามิตควรเร่งขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์ข้างต้น ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน ที่จะช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และมาตรการภาษีแบตเตอรี่ที่ต้องให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล โดยทั้งหมดต้องมีการพิจารณาบริบทโดยรอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมาตรการที่ออกมาต้องทำให้เกิดขึ้นได้เร็วและต้องอยู่ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … และสอดคล้องกับมาตรฐานโลกอีกด้วย สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.0 และ EV 3.5 ของรัฐบาลนั้น ในขั้นต่อไปจะต้องหาทางต่อยอดไปยังยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดการผลิตและใช้ในประเทศไทย เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดคาร์บอนที่จะเกิดขึ้น
“กรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะช่วยกำหนดนโยบายที่สำคัญ ของประเทศในการส่งเสริมเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อีกทั้งยังมีความสำคัญในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ดูแล และยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อเป็นการเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ” นายจุลพันธ์ กล่าว
ในช่วงการตอบคำถามอของสื่อมวลชน รมช.คลัง ยอมรับว่า จากหลาย ๆ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตลดต่ำลง โดยเฉพาะมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมัน และมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนและรัฐบาลเข้าใจและยอมรับได้ จึงอยากให้สังคมไทยเข้าใจในบทบาทของกรมสรรพสามิตที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจสีเขียว สอดรับกับทิศทางของกระแสโลก
ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงจะทำให้กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตลงจากเดิมหรือไม่? นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขความเป็นไปได้อยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคต จากบทบาทของกรมสรรพสามิตที่มีความสำคัญต่อการขังเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวนั้น เชื่อว่ากรมสรรพสามิตจะเป็นอีกกรมจัดเก็บรายได้ที่สำคัญและมีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวรายงานการดำเนินงานของกรมสรรพสามิตว่า กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่บทบาทในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ประกาศบทบาทใหม่ที่สำคัญในการเป็นกรม ESG เพื่อให้การดำเนินงานของกรมฯ สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม การปรับตัวที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
โดยนำ กลยุทธ์ EASE Excise มายกระดับการทำงานทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยที่ในปีที่ผ่านมานั้น กรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตรการที่สำคัญ อาทิ
• มาตรการด้านเศรษฐกิจ กรมสรรพสามิตได้มีการลดภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินเพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและประชาชนในช่วงระดับราคาน้ำมันสูง โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ ได้มีการลดอัตราภาษีเป็นจำนวน 3 ครั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน กันยายน 2566 ถึง เดือนเมษายน 2567 ซึ่งช่วยลดผลกระทบด้านค่าครองชีพให้แก่ประชาชนประมาณ 24,127.51 ล้านบาท
• มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Zero Emission Vehicle: ZEV) ตามมาตรการ EV 3.0 ซึ่งส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 76,739 คัน โดยเติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 646 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และสำหรับรถจักรยายนยนต์ไฟฟ้า มีการจดทะเบียนจำนวน 21,677 คัน โดยเติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 125 สำหรับปี 2567 นี้ กรมสรรพสามิตได้มีมาตรการ EV 3.5 ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมมาตรการเป็นจำนวน 7 ราย โดยกรมสรรพสามิตมีเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ EV 3.0 และ EV 3.5 ต้องผลิตรถยนต์ในไทยชดเชย พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยมีมูลค่ากว่า 79,526 ล้านบาท และจากยอดรถยนต์ไฟฟ้าสะสมจนถึงปัจจุบัน จำนวน 90,804 คันนั้นจะสามารถลด CO2 ได้ประมาณ 236,090 ตันคาร์บอน ต่อปี
• มาตรการด้านธรรมาภิบาล การดำเนินการด้านการปราบปราม โดยมีการตั้งศูนย์ปราบปรามออนไลน์ เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดผ่านเครือข่ายออนไลน์ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 ถึง พฤษภาคม 2567) ปราบปรามได้เป็นจำนวน 21,074 คดี โดยสูงขึ้นกว่าปีก่อน 9.08% และมีเงินค่าปรับนำส่งคลังจำนวน 263.70 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.73% นอกจากนี้กรมสรรพสามิตยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อยกระดับการปราบปรามในทุกรูปแบบ โดยได้มีการบันทึกความร่วมมือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมการปกครอง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นต้น โดยจากการบูรณาการความร่วมมือนี้ ทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ มาตรการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นโยบายส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น.