คลังภูมิใจ ‘บัตรเงินฝากสีเขียว’ ยึดแนวทาง EXIM BANK ส่งต่อแบงก์รัฐอื่น

“เผ่าภูมิ” บอก! ก.คลังภูมิใจมากกับ “บัตรเงินฝากสีเขียว” ของ EXIM BANK ชี้! จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจไทย รุกส่งออก “สินค้าสีเขียว” ในเวทีโลกได้ง่ายขึ้น ย้ำ! หากตลาดตอบรับดี พร้อมหนุนขยายเพิ่มวงเงินจากเดิม 5 พันล้านบาทเป็นแบบ “อันลิมิต” และจะใช้เป็นโครงการนำร่องให้กับแบงก์รัฐอื่นๆ ด้าน “ดร.รักษ์” เผย! ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อสีเขียวพุ่งทะยานครึ่งนึง หรือราว 1.5-1.7 แสนล้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวแสดงความยินดีกับ ความสำเร็จโครงการบัตรเงินฝากสีเขียว (Green Certificate of Deposit) ซึ่ง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีแผนเสนอขายภายในปี 2567 มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงประเทศชาติและโลก โดยนับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาผลิตภัณฑ์บัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รมช.คลัง ระบุว่า สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยยังมีไม่มากเมื่อเทียบประเทศคู่ชั้นนำ แม้กระทั่ง เวียดนามที่สัดส่วนสินค้ากลุ่มนี้เกือบร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกรวม ขณะที่ไทยมีเพียงร้อยละ 7.6% ดังนั้น จึงเป็นความภูมิใจของกระทรวงการคลังที่ EXIM BANK ได้ออกบัตรเงินฝากสีเขียวขายให้กับองค์กรพันธมิตรภาครัฐ ทำให้สามารถระดมทุนในต้นทุนการเงินที่ต่ำ ขณะเดียวกันการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนที่มุ่งเน้นทำธุรกิจที่เป็นกับสิ่งแวดล้อมก็จะอัตราที่ต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป

“แนวโน้มที่รัฐบาลทั่วโลกจะสร้างมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงปี 2556-2565 พบว่าประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการนี้รวมกันราว 18,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% สร้างปัญหาและอุปสรรคต่อการส่งออกกับประเทศที่ไม่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องเร่งปรับตัวและปฏิบัติตาม เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก” รมช.คลัง ย้ำ และว่า รัฐบาลพยายามจะใช้มาตรการการคลัง เช่น มาตรการทางภาษีมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านนี้ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเองก็จะต้องเร่งขยายบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับปรับตัวดังกล่าว

สำหรับ โครงการบัตรเงินฝากสีเขียวของ EXIM BANK นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวเพื่อร่วมกันเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดยนับจากนี้ เราจะเริ่มเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นของการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเงินทุน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และส่งมอบสินค้า ตลอดจนโลจิสติกส์ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

“ภาครัฐคาดหวังจะเห็น EXIM BANK นำร่องออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับธนาคารของรัฐอื่นๆ โดยหากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น ทาง EXIM BANK ก็สามารถจะเพิ่มวงเงินของบัตรเงินฝากสีเขียวได้มากกว่าปัจจุบันที่มีราว 5,000 ล้านบาท” นายเผ่าภูมิ ย้ำ

ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK มีแผนจะเสนอขายบัตรเงินฝากสีเขียว วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 โดยเริ่มออกเสนอขายรุ่นแรกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และที่สำคัญคือ Climate Finance ที่จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจรายย่อยจากระดับชุมชนเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออกสู่ตลาดโลกได้

เงินที่ได้จากการออกบัตรเงินฝากสีเขียวในครั้งนี้ EXIM BANK จะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว รวมถึงกิจการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ EXIM Green Start, Solar D-Carbon Financing และ Green Guarantee เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มากที่สุด” ดร.รักษ์ กล่าวและว่า ต้นทุนที่ EXIM BANK มีกับบัตรเงินฝากสีเขียวทั้งประเภทอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 เศษ ๆ ขณะที่นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราเงินกู้ทั่วไป เพื่อให้เอกชนเหล่านั้นได้พัฒนาและยกระดับธุรกิจ/อุตสาหกรรมไปสู่ความเป็นสีเขียว สอดรับกับกระแสความต้องการตลาดโลกได้

ทั้งนี้ นอกจาก บัตรเงินฝากสีเขียว แล้ว EXIM BANK มีแผนจะออก Blue Bond อีกราว 5,000 ล้านบาทในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหากทุกอย่างเดินไปตามแผนงานที่วางไว้ จะทำให้ EXIM BANK มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อสีเขียวคิดเป็นครึ่งหนึ่งของพอร์ตทั้งหมดในปี 2571-2573 ราวร้อยละ 50 หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1.5-1.7 แสนล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password