พรรคร่วมฯประทับตรา ‘แจกเงินหมื่น’ – โฆษก รบ. งัดตัวเลข ‘จำนวนร้าน-ยอดใช้จ่าย’ ยันไม่ห่วง ‘เจ้าสัว’ ดูดเงินดิจิทัล
พรรคร่วมรัฐบาล ร่วม “รับผิด/รับชอบ” โครงการดิจิทัล วอลเล็ต หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” นำยืนแถลงร่วมกัน ชี้! หากมีประเด็นข้อปัญหา ให้ส่งถามกฤษฎีกาทันที! ด้าน “รมช.คลัง” ปัดตอบปม “ใช้คืนหนี้ ธ.ก.ส.” บอกแค่ทุกฝ่าย รวมสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. เข้าใจตรงกัน พร้อมเดินหน้าโครงการ ขณะที่ “โฆษกรัฐบาล” งัดตัวเลขเทียบจำนวนสาขาและเม็ดเงินใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไปกับร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ ห่างไกล “หลายเท่าตัว” ยืนยันไม่กังวลปมเงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว
ภาพที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วย แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่…นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ “ 2รมช.คลัง” ยืนร่วมแถลงข่าวโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงสายวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น
ภาพที่ไม่ค่อยจะมีเห็นครั้งนี้…มันสะท้อนว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่โครงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป แต่มันคือ “โครงการของรัฐบาล” ที่รัฐมนตรีทุกคน พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค จะต้องร่วมรับผิดชอบในผลสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการนี้
นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม.รับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน ได้เห็นชอบหลักการกรอบโครงการดังกล่าว ทั้งเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ แนวทางเข้าร่วมโครงการของประชาชน เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า รวมถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ ซึ่ง กระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และ สำนักงบประมาณ จะศึกษารายละเอียดต่อไป ส่วนข้อห่วงใย โดยเฉพาะประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธกส. จะทำได้หรือไม่นั้น ตนได้สั่งการไปแล้วว่า หากมีประเด็นข้อสงสัยใดๆ ให้ส่งเรื่องไปสอบถามยังกฤษฎีกา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการของโครงการฯเช่นกัน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะกำหนดวันชัดเจนในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบ แต่รัฐบาลพยายามเร่งรัดที่สุดในกระบวนการทำทุกอย่าง ซึ่งจะต้องรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องความเสถียรของแอปพลิเคชัน ความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลของประชาชนและราชการ รวมถึงการทำตัวเลขต่างๆ โดยยืนยันตามกรอบเดิมลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเปิดใช้ในไตรมาส 4
ผู้สื่อข่าวถึงความชัดเจนที่รัฐบาลจะเริ่มใช้คืน ธกส. รมช.คลัง เลี่ยงจะตอบประเด็นนี้ พร้อมกับระบุว่า อย่าถามคำถามชี้นำ ส่วนประเด็นข้อห่วงใยของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ก็ไม่มีคำถามในเรื่องนี้ แต่ได้ถามในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปแล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและสหภาพฯมีความพร้อมในการดำเนินการนโยบายนี้ เพราะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร สำหรับเรื่องกรอบอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส.ในโครงดิจิทัล วอลเล็ต นั้น กระทรวงการคลังได้เรียนไปแล้วตามมติ ครม.ที่จะส่งสอบถามกฤษฎีกาเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจและพร้อมดำเนินการ
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงผลการประชุม ครม. ในวันเดียวกันถึงเสียงวิจารณ์ที่ระบุว่า เงินส่วนใหญ่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไหลเข้ากระเป๋าของ “เจ้าสัว-ร้านสะดวกซื้อ” (ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) โดยย้ำว่า ที่ประชุม ครม.ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว แต่เท่าตนได้ศึกษาข้อมูลถึงข้อห่วงใยและข้อครหาข้างต้นนั้น พบว่า ปัจจุบันมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ประมาณ 14,500 สาขา และมีเพียงครึ่งหนึ่งเป็นของบริษัทเอกชน (บมจ. ซีพีออลล์) โดยตรง ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ ที่มีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นเจ้าของ
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็กและร้านค้าย่อยจากการที่เคยลงทะเบียนร่วมกับโครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลชุดก่อนได้ดำเนินการมานั้น พบรายงานที่กระทรวงการคลังเคยทำไว้ กล่าวคือ มีตัวเลขร้านค้าที่ลงทะเบียนเอาไว้ราว 1.2 ล้านร้าน และมีโอกาสสูงที่ร้านค้าเหล่านี้จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ดังนั้น เชื่อว่าประชาชนจะนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้รอบแรกกับร้านค้า 1.2 ล้านร้านเป็นส่วนใหญ่ และหากเปรียบเทียบระหว่าง ร้านค้าทั่วไป 1.2 ล้านร้านกับร้านสะดวกซื้อที่มีเพียงแค่กว่าหมื่นแห่ง ถือว่าห่างไกลกันเยอะมาก และถ้ามองในข้อมูลและข้อเท็จจริงจะพบว่า มีประชาชนใช้จ่ายเงินผ่านร้านค้าทั่วไปในแต่ละปีประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท ขณะที่การใช้จ่ายเงินผ่านร้านสะดวกซื้อมีเพียง 3.8 หมื่นล้านบาท เท่านั้น เรื่องนี้จึงไม่เป็นไปอย่างที่กังวลใจแต่อย่างใด.