“เทพไท” เตือน “เศรษฐา” อย่าพูดทุกคำที่คิด แนะตั้งโฆษกส่วนตัวชี้แจงแทน ในสิ่งที่ไม่อยากพูด
“เทพไท เสนพงศ์” เตือน “เศรษฐา ทวีสิน” อย่าพูดทุกคำคิด ให้คิดทุกคำพูด ชง 3 ข้อให้ปรับปรุงตัว พร้อมแนะให้ตั้งโฆษกส่วนตัว พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด รวมทั้งเรื่องประเด็นการเมือง
วันที่ 23 พ.ย.2566 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส. นครศรีธรรมราช ได้โพสต์เพจ Facebook ส่วนตัว ข้อความว่า คำแนะนำ และ ความหวังดี ต่อคุณเศรษฐา
ผมได้ฟังการพูดของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งตำรวจ ในที่ประชุมส.ส. ของพรรคเพื่อไทยแล้ว รู้สึกตกใจ ไม่คาดคิดว่า คุณเศรษฐา จะหลุดปากพูดออกมาอย่างนั้น โดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่เมื่อพูดไปแล้ว มีพยานหลักฐาน บันทึกเป็นภาพข่าว มีทั้งภาพและเสียงชัดเจน แม้ว่าคุณเศรษฐา จะออกมาปฏิเสธ อธิบายเป็นอย่างอื่นในวันต่อมา ก็ไม่มีใครเชื่อ ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของคุณเศรษฐา ลงไปอีกว่า เป็นคนพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย
ผมเองไม่ได้รู้จักกับคุณเศรษฐาเป็นการส่วนตัวแต่ผมรู้จักกับเพื่อนสนิทของคุณเศรษฐา รู้สึกเป็นห่วงการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ของคุณเศรษฐากลัวตกม้าตาย หรือ ตายน้ำตื้นด้วยคำพูดของคุณเศรษฐาเอง
ผมเข้าใจดีว่าคุณเศรษฐา เป็นนักธุรกิจมาก่อน ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ จึงไม่ได้ลึกซึ้งและรอบคอบ ในการใช้คำพูดเมื่อถูกสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นบุคลิกของคุณเศรษฐา ที่ยากต่อเปลี่ยนแปลง
ผมได้เห็นบุคลิกและท่าทีของคุณเศรษฐาแล้ว เห็นว่าเป็นคนอารมณ์เสียง่าย ชักสีหน้า น้ำเสียงดุดัน ท่าทีแข็งกร้าว เห็นได้จากพฤฒิกรรม การโยนปากกา ตำหนิอธิบดี ดีเอสไอ เป็นคนปากไว พูดทุกคำที่คิด หลายครั้ง เช่น ทวิตประณามความรุนแรงกลุ่มฮามาส พูดกับสื่อต่างประเทศจะแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษา พูดอวยคุณอุ๊งอิ๊ง ในโรงหนัง เมื่อสื่อขอถ่ายภาพว่า มีนายก2คน การจุมพิตมือคุณอุ๊งอิ๊งหลังจากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย การใช้คำพูดว่าขี้ข้า ถูกวิจารณ์เรื่องบุคคลิกเมื่อนั่งคุยกับผู้นำต่างชาติ จนล่าสุดการพูดถึงตั๋วการแต่งตั้ง ผกก.ของส.ส.พรรคเพื่อไทย ฯลฯ
อย่าลืมว่าคุณเศรษฐา เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่ถูกจับตามองทุกฝีก้าวเพราะฉะนั้นการจะให้สัมภาษณ์ หรือทำอะไรลงไปจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ผมอยากจะเสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า
1.ควรลดการสัมภาษณ์ให้น้อยลง พูดแต่เรื่องจำเป็นและ เรื่องสำคัญเท่านั้น ไม่ใช่พูดทุกเรื่อง และไม่ใช่พูดทุกครั้ง เมื่อสื่อใช้ใมค์จ่อปาก ให้คิดทุกคำพูด ไม่ใช่พูดทุกคำคิด
2.พูดในเรื่องที่รู้จริงและมีความถนัด เช่นเกี่ยวกับเรื่อง ด้านเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงการพูดประเด็นการเมือง หรือพูดให้น้อยลง เพราะไม่มีความถนัด และไม่ทันเกมการเมือง
3.ควรมีโฆษกส่วนตัวไว้เป็นกระบอกเสียง พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากพูด เช่นในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านไม่ชอบให้สัมภาษณ์กับสื่อ แต่ให้ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี พูดแทน หรือในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ใช้โฆษกส่วนตัวตอบโต้ทางการเมือง และให้โฆษกรัฐบาลแถลงข่าวเกี่ยวกับรัฐบาลเท่านั้น ทัังๆที่คุณอภิสิทธิ์เอง มีความสามารถสื่อสารกับสื่อมวลชนได้ดี และพูดจาทางการเมืองได้ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง
ผมคิดว่าถ้าหากคุณเศรษฐาได้ปรับปรุงวิธีการสื่อสารของตัวเอง ต่อสาธารณชนแล้ว จะทำให้ปัญหา ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ลดลงได้ ซึ่งยังไม่สายสำหรับการปรับปรุงวิธีการสื่อสารเสียใหม่ ส่วนตัวเห็นว่า คุณเศรษฐาเพิ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน และยังชอบสไตล์การทำงานที่รวดเร็ว ถึงลูกถึงคน ยังให้โอกาสทำงานต่อไป.