‘มนพร’ สั่ง ขสมก. ปรับปรุงท่าปล่อยรถเมล์ทั่วกรุง ยกระดับบริการรับ ‘ราชรถยิ้ม’ หนุ่นเร่งใช้รถเมล์ไฟฟ้าทำอากาศสะอาด
รมช.คมนาคมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ ขสมก. ย้ำ! ผู้ให้บริการต้องมีความสุขและมีรอยยิ้มทำงาน เผย! พบผู้โดยสารนั่งรถเมล์ใจกลางกรุงฯ ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯมากถึง 35 เส้นทาง ราว 2 แสนคนต่อวัน สั่ง! ผู้บริหาร ขสมก. เร่งปรับปรุงท่าปล่อยรถเมล์พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยกระดับบริการขนส่งสาธารณะ พร้อมเร่งสรรหาบอร์ด คาดเสร็จต้นปี 67 หวังเดินหน้าขับเคลื่อนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 2,013 คัน
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และคณะฯ ลงพื้นตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและมอบนโยบายแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้น เดินทางไปตรวจเยี่ยมพนักงาน การให้บริการ ท่าจอดรถ ป้อมปล่อยรถ ศาลาที่พักผู้โดยสาร ก่อนจะเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปลง ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อขึ้นรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ของ ขสมก. จากไปลงอู่บางเขน เขตการเดินรถที่ 1 โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. พร้อมด้วยพนักงาน ร่วมเดินทางและให้การต้อนรับ .
รมช.คมนาคม กล่าวว่า ลงพื้นที่ตรวจการให้บริการรถเมล์ ขสมก. บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เพราะอนุสาวรีย์ชัยฯ ยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถตู้โดยสารและรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย โดยปัจจุบันมีรถเมล์ ให้บริการรวม 35 สายทาง ให้บริการ 6,500 เที่ยววิ่งต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 200,000 คนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถ ขสมก. อยู่ที่ 700,000 คนต่อวัน โดยทั้ง 3 ระยะ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล และงบประมาณดำเนินการ ซึ่งอาจมีการพิจารณาในระยะเร่งด่วน อาทิ การนำระยะที่ 1 และ 2 รวมกัน จำนวน 1,244 คัน เพื่อจัดหารถเมล์ไฟฟ้าได้รวดเร็วขึ้น และประหยัดค่าซ่อมบำรุง หากได้ข้อสรุปแล้ว จะนำเสนอบอร์ดให้พิจารณาตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังพบว่า จุดบริการรถเมล์บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ มีป้อมให้บริการปล่อยรถเมล์พบสภาพทรุดโทรม มีการใช้งานมาไม่กว่า 20 ปี ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ เพราะประชาชนมักจะสอบถามเส้นทางรถเมล์อยู่ประจำ รวมทั้งขาดแคนเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้พนักงานทำงานอย่างยากลำบาก จึงสั่งให้ ขสมก. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคเอกชนที่บริหารพื้นที่ พร้อมทั้งสั่งให้ ขสมก. สำรวจป้อมปล่อยรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่ามีอยู่กี่แห่ง เพื่อที่จะจัดทำแผนของบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษา เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อให้พนักงานได้มีความปลอดภัยและบริการประชาชนด้วยรอยยิ้ม ตามโครงการ “ราชรถยิ้ม” พนักงานมีความสุข มีความปลอดภัย ประชาชนผ็ใช้บริการก็มีความสุขเช่นกัน
อีกทั้งยังมีแผนให้ ขสมก. ดำเนินการพัฒนาพื้นที่อู่รถเมล์ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 แห่ง คือ อู่บางเขนและอู่มีนบุรี ซึ่ง ขสมก. จะต้องไปศึกษารูปแบบถึงแผนในการดำเนินการต่อไป เพื่อหารายได้ให้องค์กร รวมทั้งจัดเดินรถเมล์ให้เป็นระบบฟีดเดอร์ เพื่อนำรถเมล์ขนส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าและเรือ เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ.