กนง.มีมติ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พร้อมหั่น GDP ปี66 เหลือ 2.8%
กนง.สั่งขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พร้อมหั่น GDP ปี2566 นี้เหลือ 2.8% ทางด้าน “กสิกร-กรุงไทย ” เศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงและเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย คาดว่า ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
วันที่ 27 ก.ย. 66 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.สายการเงิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.50% ต่อปี ขณะเดียวกันได้ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เหลือ 2.8% ต่อปีจากคาดการณ์เดิมที่ 3.6% ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
โดยก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในขณะที่ยังไม่ปิดโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในระยะข้างหน้าท่ามกลางโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงและเงินเฟ้อที่ปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะยังคงส่งสัญญาณเปิดโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ ท่ามกลางความกังวลด้านเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่จากราคาพลังงานและราคาอาหารในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักต่อกรณี กนง. สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 ท่ามกลางโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง กนง. คงเผชิญข้อจำกัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ
ทางด้าน Krungthai COMPASS ออกบทวิเคราะห์เรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทย ในอนาคต หลังจาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2566 และ 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเข้ามาถึง 29 ล้านคน และ 35.5 ล้านคน ตามลำดับ ซึ่งจะสนับสนุนการจ้างงานและรายได้แรงงาน และจะเป็นแรงส่งไปยังการบริโภคภาคเอกชน สำหรับการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 และ 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ตามลำดับ จากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์จากเศรษฐกิจขยายตัวดี และการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน
อย่างไรก็ดีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง แม้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ด้านธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็งภาวะการเงินตึงตัวขึ้นสอดคล้องกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าจากทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินหยวน และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย.