ประเดิมเก้าอี้ ‘รมช.คลัง’ ร่วม คปภ. เปิดงาน Thailand InsurTech Fair #3
รมช.คลัง ร่วมกับเลขาธิการ คปภ. กดปุ่มเปิดงาน Thailand InsurTech Fair 2023 ครั้งที่ 3 อย่างยิ่งใหญ่ ชูสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน ด้าน ดร.สุทธิพล ชี้! ChatGPT จะเข้ามาเขย่าวงการ AI ครั้งใหญ่ แนะ! อุตฯประกันภัยเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รับมือนวัตกรรมที่จะช่วยให้การทำงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพระดับทวีคูณ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม ฟีนิกซ์ 1 – 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เป็นประธานร่วมกับ เลขาธิการ คปภ. เปิดงานมหกรรมเทคโนโลยีประกันภัย (Thailand InsurTech Fair 2023 หรือ TIF) ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Strengthening Sustainability Through Insurance Innovation หรือ เสริมสร้างโลกแห่งประกันภัยที่ยั่งยืนด้วยสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัย” อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งงาน TIF เป็นงานที่เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของบริษัทประกันภัยชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทย และ InsurTech Startups จากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพันธมิตรประกันภัยจากทั่วทุกมุมโลกที่จะมาสร้างเครือข่ายเข้าไว้ด้วยกัน
โดยภายในงานประกอบด้วย บูธบริษัทประกันภัย บริษัท Startups และเครือข่ายพันธมิตรที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยใหม่ ๆ มาจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านการประกันภัย การจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ และรายการส่งเสริมการขาย อาทิ ส่วนลดสูงสุด 30% และสำหรับประกันภัยที่มีการใช้นวัตกรรมหรือประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลดสูงสุดถึง 35% รวมทั้ง ยังได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย และเพิ่มช่วง Flash sales สำหรับผู้ที่ซื้อกรมธรรม์ภายในงานจะได้รับคูปองชิงโชค 2 เท่า การสัมมนาวิชาการเทคโนโลยีประกันภัยจากวิทยากรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ การสอบนายหน้าประกันภัย รวมไปถึงการนำเสนอผลงานนวัตกรรมหรือ Showcase จากบริษัทด้าน InsurTech ต่าง ๆ กิจกรรม Interactive Game เก็บคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัล รวมทั้งคลินิกด้านการประกันภัย เพื่อให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัย เป็นต้น
จากนั้น เลขาธิการ คปภ. ร่วมกับ นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ ได้ทำการเปิดบูธของสำนักงาน คปภ. และบูธของบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่ง ซึ่งบรรยากาศในงาน TIF เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก งาน TIF ปีนี้ยังมีการเติมเต็มความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัยจากเหล่าวิทยากรมากประสบการณ์ที่มาแปรเทคนิค บทเรียน สารพัดประสบการณ์กับเส้นทางประกันภัยยุคดิจิทัล โดยเริ่มจาก ดร.สุทธิพล ซึ่งได้เปิดมุมมองของ Regulator ในหัวข้อ “Empowering Sustainable Insurance with InsurTech” (เทคโนโลยีประกันภัยล้ำสมัย เสริมพลังการประกันภัยที่ยั่งยืน) โดยย้ำว่า…
เทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกล แต่กลับเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นกว่าเดิม เช่น ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่ว่ากันว่าจะเป็นการเขย่าวงการ AI ครั้งใหญ่ ที่จะสามารถช่วยทำงานให้รวดเร็วและประสิทธิภาพได้มากขึ้นอย่างทวีคูณ Technology จะเข้ามาช่วยการทำงานในทุกอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หากใช้อย่างถูกวิธี และคำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของประกันภัย ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ธุรกิจประกันภัยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจประกันชีวิตขยายตัวร้อยละ 3.77 ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.07 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนและภาคเอกชน มีความตระหนักและเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความสำคัญของการประกันภัยอย่างแท้จริง ซึ่งความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องการประกันภัยนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของธุรกิจประกันภัยต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
อีกประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากภาคประกันภัย คือเรื่อง ESG และความเชื่อมโยงกับการประกันภัยที่ยั่งยืน Sustainability ได้กลายมาเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องร่วมมือกันสร้างให้สำเร็จ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน และการประกันภัยก็ควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนด้วย เพื่อให้เกิดเป็น “การประกันภัยที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง ทั้งนี้ InsurTech จะเข้ามามีบทบาทและเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนและส่งเสริมความยั่งยืนให้กับธุรกิจประกันภัย โดยจะเข้ามาช่วยสนับสนุน หรือช่วยเร่งให้ธุรกิจประกันภัยเติบโต ตอบโจทย์ และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง ในขณะเดียวกันจะช่วยให้สามารถมองเห็นช่องโหว่ หรือจุดเสี่ยงได้ชัดเจนขึ้น ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ประเมินความเสี่ยงที่ดีกว่าและลึกซึ้งกว่า
การส่งเสริมให้เกิดการประกันภัยอย่างยั่งยืนและเทคโนโลยี คือ เครื่องมือสำคัญเพื่อสามารถเก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเหมาะสม ซึ่ง ภาคธุรกิจประกันภัยเองต้องปรับตัวและเตรียมตัวรับมือเช่นกัน ดังนี้ ประเด็นที่ 1 การร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และส่งผลในวงกว้างกว่าเดิม ประเด็นที่ 2 สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ยั่งยืน การก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจาก Mindset และ Attitude ประเด็นสุดท้าย คือ การบริหารจัดการความเสี่ยง บริษัทประกันภัยต้องกลับมาทบทวนปัจจัยเสี่ยง และกระบวนการบริหารความเสี่ยงของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาด และบริบทขององค์กรของตนเองด้วย
“เทคโนโลยีประกันภัยที่ล้ำสมัย สามารถเสริมพลัง empower การประกันภัยที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย ได้ขยายขอบเขตไกลกว่าเดิม จากเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดหรือขยายตัวไปสู่การเติบโตในระยะยาวอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืน ดังคำพูดที่ว่า “InsurTech and sustainability are the dynamic duo reshaping the insurance landscape, fostering environmental social and governance consciousness and resilience in the face of change” เทคโนโลยีด้านการประกันภัยและหลักการความยั่งยืน คือ ปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนธุรกิจประกันภัย ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และก่อให้เกิดความยืดหยุ่น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา โดย สำนักงาน คปภ. จะเดินหน้าขับเคลื่อนและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจประกันภัยไทยอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยไทยมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงใหม่ พร้อมทั้งปรับรูปแบบและแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ โดยการนำหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาใช้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย.