ธ.ก.ส. เปิดตัว BAAC Carbon Credit ผนึกกำลังเกษตรกรขับเคลื่อนภารกิจสีเขียว ลดปัญหาโลกร้อนสร้างรายได้ให้ชุมชน

ธ.ก.ส. ผนึกกำลังชุมชนธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่ากว่า 6,800 ชุมชน ขับเคลื่อนภารกิจซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ BAAC Carbon Credit พร้อมออกใบ Certificate มาตรฐาน T-VER จาก อบก. เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นำร่องธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น นำคาร์บอนเครดิตกว่า 450 ตันคาร์บอน ขายสร้างรายได้ให้ชุมชนมูลค่ากว่า 1.3 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเพิ่มปริมาณคาร์บอนเครดิตจากชุมชนออกสู่ตลาดอีกกว่า 1.5 แสนตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาและยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า จนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท และมีการเตรียมประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านบาท และในโอกาสที่รัฐบาลได้ประกาศต่อที่ประชุม World Leaders Summit ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065

ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 453 ตันคาร์บอน โดยขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,359,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 951,300 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้

ด้านหลักการคิดคำนวณ ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน (อัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70 : 30) กล่าวคือ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็น ร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี ดังนั้นในกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ โครงการ BAAC Carbon Credit จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรลุเป้าหมาย เพราะนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงขยายผลไปยังกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ – ขายได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี

สำหรับหน่วยงานที่สนใจในการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชนบท ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ 2346 ถนนพหลโยธิน แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ10900 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password