กรมศุลฯ สกัดข่าวลวงถล่มด่าน ทลฉ.! แจงปม ‘หมูแช่แข็ง-ตู้สินค้าตกค้าง’
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน และตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง
วันที่ 9 สิงหาคม 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน และตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยที่ประชุมได้มีการรายงานและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการกับของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ การดำเนินคดีอาญากับตู้สินค้าดังกล่าว และการดำเนินการกับตู้สินค้าคงค้างอื่นภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับผู้แทนจากองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการสายการเดินเรือ และสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ (TICTA)
ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกรณีตู้สินค้าคงค้างภายในเขตท่าเรือแหลมฉบังจำนวนกว่าพันตู้ ทั้งตู้สินค้าเก็บความเย็น ตู้สินค้าทั่วไป และตู้สินค้าอันตราย รวมทั้งตู้สินค้าที่บรรจุของตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้า ค่าเสียโอกาสจากการใช้พื้นที่จัดเก็บตู้สินค้าและเสียเวลาในการขนย้ายตู้สินค้าคงค้างเพื่อจัดเรียงตู้สินค้าใหม่ เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังไม่มีสถานที่สำหรับเก็บรักษาของกลางและของตกค้างเป็นการเฉพาะภายในเช่นเดียวกับคลังสินค้าตกค้างภายในท่าเรือกรุงเทพ ทำให้ต้องฝากเก็บไว้ในแต่ละท่าเรือเอกชนในปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตัวแทนเรือ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น
ปัจจุบันตู้สินค้าที่คงค้างในท่าเรือแหลมฉบัง ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีทั้งสิ้น 937 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 679 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 258 ตู้) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ตู้สินค้าอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำนวน 254 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 246 ตู้ และ ตู้สินค้าเก็บความเย็น 8 ตู้)
2. ตู้สินค้าที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในขั้นศุลกากรโดยอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย จำนวน 538 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 298 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 240 ตู้)
3. ตู้สินค้าที่เป็นของกลางในคดีอาญา ไม่สามารถขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย โดยต้องรอผลคดี จำนวน 145 ตู้ (ได้แก่ ตู้สินค้าทั่วไป 135 ตู้ และตู้สินค้าเก็บความเย็น 10 ตู้)
สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางและของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดินในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 มีการดำเนินการขายทอดตลาด/ส่งมอบ/ทำลาย รวมทั้งสิ้น 342 ตู้ โดยในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 204 ตู้ และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 138 ตู้ ในส่วนปีงบประมาณ 2566 นั้น ได้ดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าของกลางของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน เรียบร้อยแล้ว จำนวน 54 ตู้
สำหรับตู้สินค้าตกค้างประเภทสุกรแช่แข็งที่ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 161 ตู้ นั้น ได้มีการเปิดสำรวจอย่างต่อเนื่องในรูปเเบบของคณะทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษเเละกรมปศุสัตว์ จนสำรวจเเล้วเสร็จทั้ง 161 ตู้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 และปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้เตรียมการส่งมอบสินค้าประเภทสุกรดังกล่าวให้กรมปศุสัตว์เพื่อนำไปดำเนินการทำลาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ และรอการพิจารณาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า การทำลายสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา จะส่งผลให้ขาดพยานหลักฐานหรือเสียรูปคดีหรือไม่ ประการใด หากได้รับคำตอบเรียบร้อยแล้ว จะรีบดำเนินการในลำดับต่อไปทันที พร้อมกันนี้ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการสายเดินเรือ เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการกับของกลางดังกล่าว ซึ่งได้รับการประสานงานในเบื้องต้นแล้วว่า ผู้ประกอบการสายเดินเรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลาย จำนวน 97 ตู้ ส่วนตู้ที่เหลืออีก 64 ตู้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของบริษัทแม่ของผู้ประกอบการสายเดินเรือแต่ละราย
กรมศุลกากรขอย้ำว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องกับนโยบายของกรมฯ จึงได้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยทำการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์กรมปศุสัตว์ทุกกรณี เเละในกรณีที่มีการตรวจพบความผิดซึ่งสินค้าประเภทสุกร ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำการจับกุมเเละดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนโดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยกรมฯ พร้อมอํานวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมตรวจสอบ ตลอดจนพร้อมที่จะป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่มีเชื้อโรคและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจากต่างประเทศต่อไป.