ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : แบรนด์ธุรกิจเอกชน –  แกนหลักขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจชาติ

กรณีศึกษา…โลกตะวันตกหนุนเอกชนสร้างแบรนด์ วางแกนหลักขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของชาติ เทียบกลุ่มวินกรุ๊ป “เวียดนาม” ขาดแรงหนุน! ลุ้นรอล้มครืน! หันดูไทย…เตือนอย่าเสพข่าวลวง ร่วมขบวนป้ายสี “ทุนผูกขาด”

โลกในยุคดิจิทัล อะไรๆ ก็สะดวกรวดเร็ว ทันใจและทันที! แต่ทว่าสิ่งนี้…ก็ใช่ว่าจะดีและมีพลังบวกทุกเรื่องเสมอไป

เช่นกัน…ใน โลกของข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายผ่านโลกโซเชียลในแบบไวรัล (รวดเร็วและกว้างขวาง) หากขาดซึ่งการกลั่นกรองในตัวของสารที่มีการสื่อกันเป็นทอดๆ อาจทำให้ผู้รับสารหลายคน พลาดโอกาสการเก็บสำรองข้อมูลสำคัญเข้าคลังสมอง เพื่อการวางแผนและตัดสินใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้

ท่ามกลาง กระแสการเมือง “ตระบัดสัตย์” ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองไม่จำเป็นจะต้องรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก่อเกิดกระแสการต่อต้านระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง ลามเลียไปถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ถูกลากโยงไปเกี่ยวข้องกับแผนการสกัดกั้น มิให้ใครบางคน? และบางพรรคการเมือง? ได้เป็น “ผู้นำประเทศ” และรัฐบาลชุดใหม่

ข้อหาฉกรรจ์ “กลุ่มทุนผูกขาด” ทั้งทางการตลาดและอำนาจรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกับเอกชนรายอื่น ดูจะเป็นเรื่องง่ายต่อการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไปยังกลุ่มคนที่กำลังเกรี้ยวกราดเหล่านั้น

การจะมองว่า…กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่เจ้าใด “ผูกขาด” นั้น สำหรับผม…คงต้องย้อนกลับไปดูว่า ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นๆ มีผู้เล่นในตลาดมากน้อยแค่ไหน? ใครเป็นรายใหญ่? มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของตลาดที่เป็นธรรมหรือไม่? แค่ไหน? อย่างไร? เอาเปรียบประเทศชาติและประชาชนหรือเปล่า?

หากไม่มี หรือมี…แต่มีพลังไม่มากพอจะสร้างการเป็นแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้ ก็ไม่ควรเหมารวมให้กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่เจ้านั้น เป็น “กลุ่มทุนผูกขาด”

ยิ่งถ้าธุรกิจอุตสาหกรรมที่ว่านี้ ไม่ได้อยู่ใน กลุ่มพลังงาน การสื่อสาร ธุรกิจน้ำเมา ฯลฯ ที่มีการ “ผูกขาด” รวมถึงไม่ใช่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแล้ว อย่าเพิ่งเอาปูนหมายหัวด้วยข้อหาฉกรรจ์นี้เลยครับ

ลองหันไปดูโลกกว้างกันเสียหน่อย! ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีกลไกลการควบคุมและตรวจสอบที่ทรงพลัง ทั้งจากบนลงล่าง (อำนาจรัฐ) และล่างขึ้นบน (ประชาชน) รัฐบาลของพวกเขายังคิดจะส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่สัญชาติประเทศตัวเอง เติบโต ยิ่งใหญ่ มั่นคง เข้มแข็ง และข้ามฟากไปใหญ่ในต่างแดน

ในอดีต…หลายบริษัทชั้นนำของสหรัฐ และบางประเทศในยุโรป ต่างก็มีบริษัทเอกชน และแบรนด์สินค้าที่ยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง มั่นคง และทรงพลัง คอยทำหน้าที่เป็น “หัวหอกทางการค้า” ให้กับประเทศแม่ของตน

วันนี้…บริษัทเอกชนและแบรนด์สินค้าชั้นนำจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างก็มีบทบาทสำคัญไม่ต่างกัน นอกจากจะต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้กับแผ่นดินเกิดเสียอีก

ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด ไม่ได้คิดจะออกตัวแทนเอกชนรายหนึ่งรายใดที่อยู่ในข่าย “ถูกต่อต้าน” ในด้านการผูกขาดการตลาดหรอกนะครับ เพียงแค่อยากให้พวกเราสูดลมหายใจกันลึกๆ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ไปพร้อมๆ กัน ก่อนจะรับข้อมูลข่าวสารในทำนองนี้

สำหรับผม ยังเห็นว่า…ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี “บริษัทเอกชนหลักของชาติ” หลายๆ กลุ่ม ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ส่งออกสินค้าและบริการของไทยไปยังต่างประเทศทั่วโลก หากยังต้องปกป้องการรุกคืบและโจมตีจากคู่แข่งธุรกิจนอกประเทศอีกด้วย

ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มร้านสะดวกซื้อ และปั้มน้ำมัน ที่มักตกเป็นเหยื่อของข้อกล่าวหาว่าเป็น…“กลุ่มทุนผูกขาด” นั้น จะว่าไปแล้ว…ในตลาดก็ไม่ได้มีแบรนด์ของพวกเขาเพียงเจ้าเดียว แต่ยังมีคู่แข่งอีกหลายแบรนด์ เพียงแต่…คู่แข่งอาจขาดวิสัยทัศน์องค์กร ผู้บริหารไม่เก่ง มองภาพอนาคตไม่ออก มีทุนไม่มากพอ หรือไม่กล้าเสี่ยงในเกมธุรกิจ ฯลฯ จึงไม่อาจจะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตจนเป็น “เบอร์ 1” ในเซ็กเม้นท์นั้นๆ ได้

กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่ที่ก้าวไปอยู่ในแถวหน้าในวันนี้…หลายแห่งก็เคยล้มลุกคลุกคลานกันมาก่อน บางแห่ง…ยอมตัดนิ้วรักษาแขน ตัดแขนรักษาชีวิต ขายทิ้งธุรกิจที่ร่วมก่อร่างสร้างกันขึ้นมาให้กับนายทุนต่างชาติ เพียงเพื่อให้ธุรกิจหลักของตัวเองได้อยู่รอด

จากอยู่รอด สู่ขั้นปลอดภัย กระทั่ง เติบโตแบบก้าวกระโดด จากนั้น…จึงค่อยๆ กลับไปซื้อคืนธุรกิจที่เคยตัดใจขายทิ้งไปในห้วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ

หากรัฐบาลไทย และคนไทยเสพข่าวที่ผูกโยงกับเรื่องของการเมืองมากไป กระทั่ง มองกลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่ด้วยสายตาที่เคลือบแคลง สิ่งนี้…อาจเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤตได้เช่นกัน!!!

ผมมี กรณีศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง…เวียดนาม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของพวกเขาเติบโตในระดับ 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง มีนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ…ขนเงินทุนเข้าไปลงทุนในดินแดนแห่งนี้อย่างมากมาย

เวียดนามเอง ก็มี กลุ่มบริษัทธุรกิจเอกชนรายใหญ่ ที่ได้รับการจัดชั้นให้เป็น “เบอร์ 1” ของประเทศ อย่าง…กลุ่มวินกรุ๊ป (Vingroup) โดยการก่อตั้งของ “ฝ่าม เญิต เวือง” (Pham Nhat Vuong) มหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่รวยที่สุดของประเทศ เมื่อปี 2555 (2012)

ธุรกิจของ “วินกรุ๊ป” ครอบคลุมตั้งแต่…ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม, เชนร้านสะดวกซื้อ “วินมาร์ทพลัส”, “วินมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต”, ธุรกิจการเกษตร “วินอีโค” การศึกษา การดูแลสุขภาพ การผลิตการ์ตูน ฯลฯ นี่ยังไม่นับรวม…ธุรกิจจัดหาบริการด้านฟินเทคและการทำตลาดดิจิทัล และ “วินโปร” เชนร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเลิกทรอนิกส์

แต่ธุรกิจที่เคยถูกคาดหวังจะใช้เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” นำแบรนด์สินค้าเวียดนามออกไปตีตลาดโลก นั่นก็คือ “วินฟาสต์” แบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนาม แต่ท้ายที่สุด…มันก็ไม่ได้เป็นเช่นที่ มหาเศรษฐี “ฝ่าม เญิต เวืองวาดฝัน เพราะเอาเข้าจริง…คุณภาพของ “วินฟาสต์” ยังไม่ถึงชั้นที่คนอเมริกันและคนทั่วโลกจะถวิลหา

ผู้ก่อตั้งกลุ่มวินกรุ๊ป จำต้องควักจ่ายเงินจำนวนมหาศาลกว่า 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพื่อชดเชยเป็นค่าดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ ของ “วินฟาสต์” ในขณะนี้ รายได้ผลตอบแทนของแบรนด์รถยนต์สัญชาติเวียดนาม กลับมีเพียงน้อยนิด

เมื่อ “ฝ่าม เญิต เวือง” คิดจะรักษาแบรนด์ “วินฟาสต์” เขาจึงต้องตัดใจทะยอยขายทิ้งธุรกิจอื่นๆ ออกไป

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่าง…ความไม่พร้อมที่จะเติบโตในโลกกว้างของแบรนด์โลคั่ล! ซึ่งการตั้งท่ารังเกียจเดียดฉันท์ต่อการเติบโตอย่างเข้มแข็งของแบรนด์และธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย ด้วยข้อหาฉกรรจ์ เป็น…“กลุ่มทุนผูกขาด” ก็อาจเป็นการ ทำลาย…ยุทธศาสตร์แห่งโอกาสของเอกชนไทยและประเทศไทยไปโดยอัตโนมัติ ก็เป็นไปได้ครับ.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansuta@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password